อินโดนีเซียกับความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร

เมื่อวันที่ ๑๕ มี.ค. ๕๕ สื่อท้องถิ่น (The Jakarta Post) ได้ลงข่าวว่า อินโดนีเซียตกลงร่วมมือกับเมียนมาร์และกัมพูชาด้านความมั่นคงทางอาหารโดยได้ลงนามใน MOU ระหว่างกัน โดยเมียนมาร์จะขายข้าวให้อินโดนีเซียปีละ ๒๐๐,๐๐๐ ตัน ซึ่ง คตล. ดังกล่าวมีผลตั้งแต่เดือน กพ. ที่ผ่านมา และอินโดนีเซียจะร่วมมือในลักษณะคล้ายกันกับกัมพูชา โดยนาย Hatta Rajasa รัฐมนตรีกระทรวงประสานงานเศรษฐกิจฯ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ รมว.กษ. ไปเยือนเมียนมาร์และกัมพูชาเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสาขาของ Bulog ในทั้ง ๒ ประเทศ ทั้งนี้ รมต. ประสานงานเศรษฐกิจฯ ระบุว่า การจัดตั้ง Bulog ในเมียนมาร์และกัมพูชาไม่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ แต่เพราะเมียนมาร์และกัมพูชาต้องการความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตข้าว

ในชั้นนี้ Bulog เชื่อว่า ปีนี้จะไม่ต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศหลังจากปีที่แล้วนำเข้าจำนวน ๑.๙ ล้านตัน จากไทย เวียดนามและอินเดีย โดยปีนี้คาดว่าจะเกี่ยวข้าวได้ประมาณ ๗๒.๐๒ ล้านตัน คิดเป็นข้าวสารประมาณ ๔๐ ล้านตัน (สูงกว่าปีที่แล้วที่เก็บเกี่ยวได้ ๖๕.๓๙ ล้านตัน) และขณะนี้ได้เก็บข้าวเข้าใน stock ไว้พร้อมแล้วประมาณ ๕.๕ ล้านตัน ซึ่ง Bulog จะแจกจ่ายข้าวไปตามช่องทางการตลาดในปีนี้ประมาณ ๓.๕ ล้านตัน เพื่อลดเงินเฟ้อ เพราะราคาข้าวมีสัดส่วนถึงร้อยละ ๓.๗๙ ในอัตราเงินเฟ้อ

สถาบัน Australian Center for International Agriculture (ACIAR) เคยศึกษาผลกระทบและ มูลค่าในงานด้านพันธุ์ข้าวของ International Rice Research Institute (IRRI) ระหว่างปี ๑๙๘๕-๒๐๐๙ ในประเทศที่เพาะปลูกข้าว ๓ ประเทศ คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ พบว่า อินโดนีเซียมีผลผลิตต่อเนื้อที่สูงสุด คือ ๕.๑ ตัน/เฮกตาร์ (ปี ๒๐๑๐) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ ๔.๓ ตัน/เฮกตาร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เทคโนโลยีการพัฒนาพันธุ์ข้าว และผลิตผลต่อพื้นที่ของอินโดนีเซียอยู่ในระดับสูง ซึ่งน่าจะถ่ายทอดให้กับเมียนมาร์และกัมพูชาได้ตามข่าวที่ให้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ อัตราการบริโภคข้าวของอินโดนีเซียสูงมาก คือ เฉลี่ยต่อคนประมาณ ๑๓๙ กก./ปี ดังนั้น ประชากร ๒๔๐ ล้านคน จะบริโภคข้าวประมาณ ๔๐ ล้านตัน/ปี แต่อินโดนีเซียยังมีปัญหาการทุจริตในกระบวนการจึงทำให้ผลผลิตที่ผลิตได้สูญหายไประหว่างทางจึงทำให้ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงปี ๒๐๑๐-๒๐๑๑ อินโดนีเซียยังต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ต่างจากปี ๒๐๐๗-๒๐๐๘ ที่สามารถผลิตเลี้ยงตนเองได้ ซึ่งทางแก้ที่รัฐบาลพยายามดำเนินการคือ ชักชวนให้ประชาชนลดการบริโภคข้าวแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ดังนั้น แม้ว่าอินโดนีเซียจะมีเทคโนโลยีที่สามารถถ่ายทอดให้กับเมียนมาร์และกัมพูชาจริง แต่ก็เป็นที่คาดได้ว่า ในความเป็นจริง อินโดนีเซียน่าจะต้องการให้เมียนมาร์และกัมพูชาเป็นแหล่งนำเข้าข้าวของตนมากกว่าอย่างอื่น

ความมั่นคงทางอาหารเป็นประเด็นที่รัฐบาลอินโดนีเซียให้ความสำคัญลำดับต้น แม้ว่า รัฐบาลจะ พยายามให้ตัวเลขว่า สามารถผลิตข้าวได้จนถึงระดับที่พอเลี้ยงตัวเอง แต่ในความเป็นจริง ตัวเลขดังกล่าวก็หมิ่นเหม่กับความต้องการบริโภคข้าวภายในประเทศมาก เพราะตามสัดส่วนการสีข้าวแล้ว ข้าวเปลือก ๑๐๐ กก. จะได้ข้าวสารขาวประมาณ ๔๐-๔๕ กก. ข้าวหัก ๒๐ กก. และปลายข้าว ๔ กก. ที่เหลือเป็นข้าวด้อยคุณภาพ รำ แกลบ ดังนั้น หากเก็บเกี่ยวได้ ๗๒ ล้านตันจริง ก็อาจจะผลิตเป็นข้าวสารได้ประมาณ ๓๒ ล้านตัน ซึ่งจะไม่พอการบริโภค โดยตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้คำนวณเกณฑ์การสำรองข้าวที่ต้องสำรองอย่างน้อย ๑.๕ ล้านตัน อย่างไรก็ตาม หากคนอินโดนีเซียบริโภคข้าวคุณภาพปานกลางด้วย (ข้าวหัก) ก็จะผลิตได้ประมาณ ๔๕ ล้านตัน ซึ่งก็จะอยู่ในปริมาณที่พอไม่ต้องนำเข้า อย่างไรก็ตามอินโดนีเซียยังมีปัญหาการบริหารจัดการข้าว และมีข้าวสูญหายระหว่างกระบวนการจึงเป็นไปได้ว่า สุดท้ายปริมาณข้าวอาจไม่เพียงพอและต้องนำเข้าอีก ดังนั้น แหล่งนำเข้าข้าวจากต่างประเทศจึงเป็นปัจจัยสำคัญของอินโดนีเซีย

รัฐบาลอินโดนีเซียตระหนักถึงความสำคัญของการนำเข้าข้าว แต่ไม่ต้องการซื้อข้าวในราคาแพง จึงพยายามแสวงหาตลาดเพิ่มเพื่อถ่วงดุล เห็นได้จาก นอกจากจะลงนาม MOU กับไทยและเวียดนามที่จะนำเข้าข้าวปีละ ๑,๐๐๐,๐๐๐ ตัน ขณะนี้ ยังลงกับกัมพูชาและพม่า รวมทั้งยังพยายามดึงปากีสถานและอินเดียเข้ามาอยู่ในภาพด้วย แต่ทั้งนี้ ไทยยังอยู่ในฐานะได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ เพราะ Bulog มีความคุ้นเคยและมี ความสัมพันธ์อันดีกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) ของไทย เห็นได้จากเวลานำเข้าข้าวมักจะนำเข้าจากไทยเสมอ แต่อาจมีข้อจำกัดที่ข้าวไทยอาจราคาแพงกว่าข้าวที่อื่น ดังนั้น ยุทธศาสตร์การค้าข้าวกับอินโดนีเซียน่าจะต้องเป็นในลักษณะที่ อคส. หารือล่วงหน้ากับ Bulog ถึงปริมาณนำเข้าข้าวล่วงหน้า เพราะในความเป็นจริงเชื่อว่า Bulog สามารถคำนวนได้ล่วงหน้าว่า ในแต่ละปีจะต้องนำเข้าข้าวหรือไม่ ซึ่งในปีนี้ แม้ในช่วงนี้จะแถลงว่า อาจไม่จำเป็น แต่พิจารณาจากตัวเลขทำให้น่าเชื่อได้ว่า อาจจะต้องนำเข้าอีก จึงอาจดำเนินการเจรจาล่วงหน้าไว้เพื่อป้องกันไม่ให้อินโดนีเซียเลือกซื้อ (shopping) ตามตลาดข้าวที่อินโดนีเซียพยายามหาเข้ามาเพิ่มเติม ทั้งนี้ ในปัจจุบัน อินโดนีเซียห้ามนำเข้าข้าวจากต่างประเทศรวมทั้ง ข้าวจากไทย แต่จะอนุญาตให้นำเข้าได้เป็นครั้งๆ เพื่อสำรองตามปริมาณสำรองข้าวที่รัฐบาลกำหนดโดย Bulog จะเป็นผู้ได้รับอนุญาตเพียงผู้เดียวให้สามารถนำเข้าข้าวได้


Source:  สอท. ณ กรุงจาการ์ตา (มีนาคม 2555)

Back to the list