พัฒนาการด้านการท่องเที่ยวของอินโดนีเซีย

พัฒนาการด้านการท่องเที่ยวของอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียได้กำหนดแผนการผลักดันการท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายหลักคือการ “rebrand” การท่องเที่ยว ให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และมุ่งเน้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดเงินได้สูง มากกว่าปริมาณนักท่องเที่ยว และการทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีเสถียรภาพ เน้นพัฒนาบุคลากรและใช้เทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมให้ ชาวอินโดนีเซียเลือกท่องเที่ยวในประเทศ โดยมีนโยบายสำคัญและพัฒนาการที่น่าสนใจดังนี้

1. อินโดนีเซียพยายามปรับแนวทางการจัดการท่องเที่ยว

โดยพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ทั้งปัจจุบันและภายหลัง COVID-19 โดยเน้นเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ยกระดับการท่องเที่ยวตลอดกระบวนการ ทั้งในด้านความสะอาด ความปลอดภัย ความยั่งยืนของธรรมชาติ และความเป็นมาตรฐานสากลของผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยว การฝึกอบรมและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การจัดการท่องเที่ยวโดยใช้มาตรการสาธารณสุข การส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการเพิ่มมูลค่าสินค้าและขยายตลาด การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งจะมีการกำหนดให้ผู้ที่ลงทุนโครงการขนาดใหญ่ใน “10 New Balis” ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการลงทุนและภาษีสูงสุด 10 ปี ตามประเภทธุรกิจ

2. นโยบาย “10 New Balis” และ “5 Super Priority Tourism Destinations”

2.1 มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริม เพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวของอินโดนีเซีย และดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยในระยะแยกได้กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 10 แห่ง ได้แก่ (1) Lake Toba (2) Borobudur ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม (3) Mandalika (4) Labuan Bajo ซึ่งเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวต้องมาเพื่อเดินทางต่อไปยัง Komodo National Park (5) Likupang (6) Wakatobi (7) Bromo-Tengger-Semeru (8) Bangka Belitung (9) Morotai และ (10) Raja Ampat

2.2 ในปี 2564 อินโดนีเซียกำหนดให้พื้นที่ 5 ใน 10 แห่งข้างต้นนี้ เป็นพื้นที่ priority สำหรับการดำเนินงานในปี 64 ที่เรียกว่า “5 Super Priority Tourism Destinations” ได้แก่ (1) Lake Toba (2) Borobudur (3) Mandalika (4) Labuan Bajo และ (5) Likupang ส่วนพื้นที่อีก 5 แห่ง จะเป็น priority sites สำหรับปีถัดไป ทั้งนี้ “5 Super Priority Tourism Destinations” จะเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่อินโดนีเซียใช้เตรียมต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุม G20 ในปี 2565 อันจะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของอินโดนีเซีย

3. การส่งเสริม Medical and Health Tourism

3.1 การกำหนดสาขาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของอินโดนีเซีย แบ่งออกเป็น 4 สาขาสำคัญ ได้แก่ (1) medical tourism ในสาขาการรักษาบำบัดที่มีมูลค่าสูง (คล้าย 12 magnet services ของไทย) (2) สปา ฟิตเนส herbal tourism และ traditional and herbal health services (3) การท่องเที่ยวด้านสุขภาพและกีฬา ซึ่งจะอิงกับ การจัดการแข่งขันกีฬา และ (4) การท่องเที่ยวด้านสุขภาพและวิทยาศาสตร์ (scientific tourism)

3.2 ปัจจุบันมีชาวอินโดนีเซียที่เดินทางไปรับบริการทางการแพทย์และสุขภาพในต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะในสิงคโปร์และมาเลเซีย และบางส่วนเดินทางมาไทย ยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ทำให้ทางการอินโดนีเซียพยายามผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาระบบสาธารณสุข โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Indonesia Health Tourism Board - IHTB) และการปรับกฎระเบียบ ด้านการประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวทางการแพทย์และสุขภาพ โดยการสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบสาธารณสุข รวมถึงการกำหนดมาตรการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติในอุตสาหกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ ทางการอินโดนีเซียได้เลือกโรงพยาบาลชั้นนำ 15 แห่ง ในกรุงจาการ์ตาและปริมณฑล บาหลี และเมดาน (สุมาตรา) เป็นโรงพยาบาลนำร่องเพื่อดำเนินนโยบาย Medical Tourism (อาทิ Mayapada Hospital เชี่ยวชาญด้านการรักษาความผิดปกติของระบบประสาท Siloam Hospital เชี่ยวชาญโรคด้านสมอง และ Eka Hospital ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเครื่องรักษาโรคกระดูกสันหลัง หรือ spine treatment)

4. การพัฒนาการท่องเที่ยวฮาลาล (Halal Tourism)

เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายที่สนใจ religious tourism ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีจังหวัดที่มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านศาสนาหลายแหล่ง อาทิ จ. สุมาตราตะวันตก จ. อาเจะห์ จ. ชวาตะวันตก และ จ. นุสาเตงการาตะวันตก โดยล่าสุด จ. กาลิมันตันใต้และ จ. โกโรนตาโลก็จะเร่งพัฒนาการท่องเที่ยวด้านศาสนาและฮาลาลด้วย

Back to the list