การจ้างแรงงาน

ประเภทของงาน

การจ้างแรงงานแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. พนักงานประจำ (Permanent workers)
        จะได้รับเงินเดือน โบนัส และสวัสดิการอื่นๆ
  2. พนักงานแบบสัญญา (Contract workers)
        จะได้รับการจ้างงานตามระยะเวลาที่ กำหนดตามสัญญาการจ้างงานที่ทำกับนายจ้าง รัฐบาลมีกฎระเบียบว่า สัญญาการจ้างงานจะมีอายุสูงสุดเพียง 2 ปีและสามารถต่อสัญญาได้อีก 1 ปีแต่ไม่เกิน 2 ปี ปัจจุบันหลายบริษัทเลือกใช้วิธีการจ้างงานตามระยะเวลาที่กำหนดตามสัญญาฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินค่าชดเชยในกรณีที่มีการให้พนักงานออกจากงาน นายจ้างมีสิทธิที่จะบอกเลิก หรือต่อสัญญาจ้าง พนักงานที่มีการจ้างแบบระะสัญญาจ้างจะได้รับเงินเดือนเป็นรายเดือน มีวันหยุดตามศาสนาและไม่มีสวัสดิการใดๆ
  3. พนักงานแบบรับช่วงต่อ (Outsourcing workers)
        เป็นระบบที่มีการจัดหาพนักงาน ให้กับบริษัทอื่นๆ ที่มีความต้องการพนักงาน พนักงานที่ได้รับการคัดเลือกภายใต้ระบบการรับช่วงต่ออาจมีสถานะเป็นพนักงานประจำ หรือพนักงานชั่วคราว บริษัทที่ให้บริการจัดหาพนักงานรับช่วงต่อ จะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงแรงงาน

                กฎหมายแรงงานเลขที่ 13/2003 มีมาตราสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการจ้างพนักงานแบบรับช่วงต่อ ดังนี้

  • มาตราที่ 50-55 และมาตราที่ 56-59
    กำหนดให้พนักงานแบบรับช่วงต่ออาจทำงานพิเศษนอกเหนือจากงานประจำหรือทำงานพิเศษที่เกี่ยวข้องกับงานประจำก็ได้
  • มาตราที่ 66
    มีงานเพียง 5 ประเภทเท่านั้นที่สามารถจ้างพนักงานทำงานภายใต้ระบบการรับช่วงต่อ ได้แก่ งานบริการจัดเลี้ยง การให้บริการทำความสะอาด การรักษาความปลอดภัย บริการสนับสนุนการทำเหมือง และบริการขนส่งพนักงาน หากเป็นงานที่นอกเหนือจากงาน 5 ประเภทข้างต้นอาจไม่สามารถจ้างพนักงานทำงานภายใต้ระบบการรับช่วงต่อได้

                ประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับจากการจ้างงานแบบรับช่วงคือ บริษัทไม่มีข้อผูกมัดที่จะต้องจ่ายเงินชดเชยเมื่อใดก็ตามที่ตัดสินใจ
           ยกเลิกการจ้างงานของพนักงาน

เวลาการทำงาน

        ข้อกำหนดของกฎหมายแรงงานกำหนดว่า เวลาการทำงานจะต้องไม่มากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยปกติเวลาการทำงานจะเป็น (1) 8 ชั่วโมงต่อวัน สำหรับผู้ที่ทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ หรือ (2) 7 ชั่วโมงต่อวันสำหรับคนที่ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ กฎระเบียบของเวลาทำงานจะไม่มีผลบังคับใช้กับงานในบางสาขาที่กำหนด

การทำงานล่วงเวลา

        การทำงานล่วงเวลาจะถูกควบคุมและกำกับโดยกฎกระทรวงแรงงานเลขที่ KEP.102/MEN/VI/2004 ทั้งนี้ การทำงานล่วงเวลาจะเป็นไปตามข้อกำหนดของแต่ละบริษัท โดยพนักงานมีสิทธิที่จะได้รับการจ่ายเงินค่าล่วงเวลาในอัตราพิเศษ

วันทำงาน อัตราตัวคูณพื้นฐาน
ปกติ ชั่วโมงแรก ชั่วโมงถัดไป
วันจันทร์-เสาร์ - 1.5 2
วันอาทิตย์และวันหยุด 2 3 4

        ที่มา: Ministry of Manpower and Transmigration

การฝึกอบรมของพนักงาน

        กฎกระทรวงเลขที่ KEP.261/MEN/XI/2004 ได้กำหนดให้บริษัทที่มีพนักงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปจะต้องจัดฝึกอบรมให้แก่พนักงานอย่างน้อยร้อยละ 5 ของจำนวนพนักงานทั้งหมดในแต่ละปี

        บริษัทที่ถูกกำหนดให้จัดฝึกอบรมในแต่ละปีนั้น จะต้องจัดเตรียมกำหนดการฝึกอบรมรายปีซึ่งประกอบด้วยประเภทของการฝึกอบรม ระยะเวลาและสถานที่ของการฝึกอบรม ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการจัดการฝึกอบรมจะเป็นความรับผิดชอบของบริษัททั้งหมด

สิทธิของพนักงานและวันหยุด

  • เงินเดือน
  • โบนัส
  • สวัสดิการอื่นๆ รวมทั้งค่าใช้จ่ายของที่พักอาศัยและเงินกู้
  • ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
  • ค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตรและวันลาพักคลอดบุตร 3 เดือน (1.5 เดือนก่อนคลอดบุตรและ 1.5 เดือนหลังจากคลอดบุตร)
    สำหรับพนักงานผู้หญิง
  • ประกันสังคม
  • วันหยุดรายสัปดาห์ กำหนดให้หยุด 1 วันหลังจากทำงาน 6 วันและวันหยุด 2 วันหลังจากทำงาน 5 วัน
  • วันหยุดรายปี กำหนดให้มีวันหยุดได้ 12 วันทำงานหลังจากที่ทำงานต่อเนื่องกัน 12 เดือนขึ้นไป
  • วันหยุดพักผ่อน กำหนดให้หยุดได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์หลังจากที่ทำงานมาแล้วอย่างน้อย 6 ปี
  • วันหยุดตามกฎกระทรวงแรงงานเลขที่ 04/MEN/1994 บริษัทจะกำหนดให้พนักงานได้หยุดงานในวันหยุดทางศาสนาทุกปี

สหภาพแรงงาน

        ตามกฎหมายฉบับที่ 21/2000 รัฐบาลอนุญาตให้พนักงานทุกคนมีสิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงานและเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน ทั้งนี้ บริษัทที่มีคนงานอย่างน้อย 10 คนก็สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนกับนายจ้าง

        สหภาพแรงงานสามารถจัดตั้งโดยพนักงานในบริษัทหรือบุคคลภายนอกบริษัทก็ได้ ทั้งนี้ รูปแบบสหภาพแรงงานคือเป็นองค์กรอิสระและเปิดเผย เป็นประชาธิปไตยและรับผิดชอบในการต่อสู้เพื่อแรงงานในกรณีที่มีข้อโต้แย้งกับนายจ้าง องค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องกับแรงงานคือสมาพันธ์แรงงานแห่งชาติ (Federation of Indonesian Workers) ซึ่งประกอบด้วยสหภาพแรงงานจำนวน 21 แห่งและ SPLP จำนวน 13 แห่ง

การประกันสังคมของแรงงาน

        รัฐบาลได้จัดตั้งโครงการประกันสังคมซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานประกันสังคมของรัฐ ซึ่งครอบคลุมเรื่องต่างๆ ดังนี้

  1. การประกันการเกษียณอายุ
  2. การประกันสุขภาพ
  3. การประกันอุบัติเหตุจากการทำงาน
  4. การประกันการเสียชีวิต

        เบี้ยประกันของโครงการประกันสังคมจะคิดจากร้อยละ 5.7 ของเงินเดือนและร้อยละ 3.7 ของเงินสมทบจากนายจ้าง โดยนายจ้างที่มีลูกจ้าง 10 คนขึ้นไปที่มีอัตราค่าจ้างพนักงานต่อคนเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านรูเปียห์จะต้องเข้าร่วมโครงการประกันสังคม หากเจ้าของธรุกิจที่ไม่มีลูกจ้างก็สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้เช่นกัน

อัตราค่าจ้างแรงงาน

        อัตราค่าจ้างในแต่ละภูมิภาคกำหนดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งจะมีอัตราที่แตกต่างกันไป ในปี 2009 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำได้ถูกปรับสูงขึ้นร้อยละ 9-16 จากปี 2008

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในพื้นที่สำคัญ (สถิติปี 2009)

จังหวัด ปี 2009
(พันรูเปียห์)
ปี 2008
(พันรูเปียห์)
สุมาตราตอนเหนือ 905 822.2
สุมาตราตะวันตก 880 800
เรียว 901.6 880
จัมบี 800 724
ชวาตะวันตก 628.19 568.19
จาการ์ตา 1069.86 972.60
บันเตน 917.5 837
ยอกยาการ์ตา 700 586
ชวาตะวันออก 570 500
บาหลี 760 682
กาลิมันตันตะวันตก 705 645
กาลิมันตันตอนใต้ 930 825
กาลมันติันตอนกลาง 888.41 765.87
กาลิมันตันตะวันออก 955 889.65
โมลุกกะ 775 700

        ที่มา: Salary Directorate&Jamsostek, PHI Directorate&Jamsostek, Manpower and Transmigration Ministry

แรงงานต่างชาติ

        แรงงานต่างชาติที่ถือวีซ่าอินโดนีเซียสามารถทำงานในอินโดนีเซียได้ ธุรกิจที่สามารถจ้างแรงงานต่างชาติได้คือ สำนักงานตัวแทนการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานตัวแทนของบริษัทในต่างประเทศหรือสำนักข่าวต่างประเทศ บริษัทลงทุนของต่างประเทศ บริษัทลงทุนของอินโดนีเซีย บริษัทที่ดำเนินงานเพื่อโครงการของรัฐ และโครงการช่วยเหลือต่างๆ สถาบันเพื่อสังคม การศึกษา วัฒนธรรมและศาสนา ธุรกิจบริการ

        นายจ้างของแรงงานต่างชาติจะต้องมีการจัดทำแผนการใช้แรงงานต่างชาติโดยจะต้องระบุเหตุผลในการใช้แรงงานต่างชาติ ตำแหน่ง ค่าจ้าง จำนวน สถานที่ทำงาน ระยะเวลาการค้าง และจำนวนแรงงานท้องถิ่นที่จะทำงานด้วย

        แผนการใช้แรงงานต่างชาติที่มากกว่า 50 คนขึ้นไปจะต้องได้รับการอนุมัติจากอธิบดีกระทรวงแรงงาน แต่หากความต้องการจ้างแรงงานต่างชาติที่น้อยกว่า 50 คนนั้น ก็สามารถขออนุมัติจากผู้อำนวยการกองของกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ ใบอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างชาตินี้จะต้องเข้ารับการต่ออายุเป็นประจำทุกปี

        นายจ้างที่มีแรงงานต่างชาติทำงานนั้นจะต้องจัดให้แรงงานต่างชาตินั้นเข้าร่วมโครงการประกันสังคมด้วย โดยพนักงานต่างชาติที่ได้รับเงินค่าจ้างต่อเดือนมากกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ นายจ้างจะต้องจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานโดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของรัฐที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนดไว้

        แรงงานต่างชาติไม่สามารถทำงานมากกว่า 1 ตำแหน่ง และทำงาน 2 แห่ง ตำแหน่งของแรงงานต่างชาติ คือ ช่างเทคนิค ผู้เชี่ยวชาญ ผู้จัดการ ผู้อำนวยการ คณะผู้แทน ที่ปรึกษา


พฤษภาคม 2553
แหล่งข้อมูล: สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.depthai.go.th