กฎระเบียบสำคัญ

กฎหมายการลงทุน

อินโดนีเซียทบทวนสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติใหม่ ประจำปี 2559

        เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 นาย Pramono Anung เลขา ครม. อินโดนีเซีย ได้แถลงข่าวการทบทวนสัดส่วนการลงทุน/การถือกิจการของต่างชาติในอินโดนีเซีย หรือ Negative Investments List (DNI) ซึ่งเป็น 1 ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับที่ 10 ของรัฐบาล โดยมีการเปิด/ขยายสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติในสาขาสำคัญ อาทิ ห้องเย็น ยาง ทางด่วน ภาพยนตร์ e-commerce ร้านอาหาร ในขณะที่จำกัดการลงทุนของต่างชาติใน 20 สาขา และปกป้องธุรกิจขนาดเล็กและ SMEs ท้องถิ่น

        1. สาขาที่เปิดให้มีการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น

สาขา อัตราเดิม (%) อัตราใหม่ (%)
สาขาที่เปิดให้มีการลงทุนจากต่างชาติร้อยละ 100
1. ห้องเย็น [1] 33 100
2. ศูนย์กีฬา 49 100
3. การผลิตภาพยนตร์ (film production houses) 49 100
4. ยางผง (crumb rubber) 49 100
5. ร้านอาหาร / บาร์ / ร้านกาแฟ 51 100
6. วัตถุดิบการผลิตยา 85 100
7. ทางด่วน 95 100
8. Telecommunication Testing and Labs 95 100
9. การบริหารจัดการขยะที่ไม่เป็นพิษ 95 100
สาขาที่เปิดให้มีการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น
10. การกระจายสินค้า [2] 33 67
11. การจัดการอบรมทางธุรกิจ 49 67
12. ตัวแทนท่องเที่ยว 49 67
13. สนามกอล์ฟ 49 67
14. Transport Supporting Services 49 67
15. พิพิธภัณฑ์ 51 67
16. catering 51 67
17. ธุรกิจการจัดประชุมงานแสดงสินค้า และ Travel Incentives 51 67
18. การให้คำปรึกษาการก่อสร้างในโครงการมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านรูเปียห์ 55 67
19. Telecommunication Services 65 67
สาขาใหม่ที่เปิดให้มีการลงทุนจากต่างชาติจากเดิมไม่อนุญาต
20. การติดตั้งไฟฟ้าความแรงสูง 0 49
21. การขนส่งทางบก 0 49
22. Healthcare support services 0 67
23. ภาพยนตร์ และการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ 0 100
24. E-commerce ที่มีขนาดตลาดมากกว่า 1 แสนล้าน รูเปียห์ 0 100

[1] ปรับกลับมาเป็นอัตราเดิมทั่วประเทศอีกครั้ง จากเดิมในการทบทวน DNI เมื่อปี 2557 ได้มีการจำกัดการลงทุนของต่างชาติ
จากเดิมร้อยละ 100 ปรับลดเหลือร้อยละ 33 ในเกาะสุมาตรา ชวา บาหลี และร้อยละ 77 ในเกาะกาลิมันตัน สุลาเวสี นูซาเตงการาตะวันออก มาลุกุ และปาปัว

[2] ในการทบทวน DNI เมื่อปี 2557 ได้ปรับจากอัตราร้อยละ 100 เหลือร้อยละ 33

        ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซีย ทบทวน DNI ประมาณทุก 2 ปี การทบทวนสัดส่วนการลงทุน/การถือกิจการของต่างชาติครั้งนี้ มีการเพิ่มสาขาและขยายสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติมากกว่าการทบทวนเมื่อปี 2557 เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคบริการ

ซึ่งประธานาธิบดี Jokowi ได้เรียกการทบทวน DNI ครั้งนี้ว่าเป็นมาตรการ “Big Bang” เนื่องจากมุ่งหวังให้มาตรการดังกล่าวช่วยกระตุ้นการลงทุน และการจ้างงาน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของ อซ. นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่ประกาศมาตรการดังกล่าวเป็นช่วงก่อนการเยือนสหรัฐฯ ของ ปธน. อซ. เพื่อร่วม กปช. ASEAN-US Summit จึงเป็นการส่งสัญญาณที่ดีไปยังนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในสาขาเทคโนโลยีการสื่อสาร E-commerce และภาพยนตร์ สำหรับเอกชนไทย สาขาร้านอาหารน่าจะเป็นอีกสาขาที่เอกชนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการนี้ขยายการลงทุนได้ดี เนื่องจากอาหารไทยได้รับความนิยมอยู่แล้ว โดยร้านอาหารไทยในอินโดนีเซียส่วนมากเป็นของนักธุรกิจท้องถิ่น โดยจ้างพ่อครัว/แม่ครัวชาวไทยมาควบคุมคุณภาพ

เอกสารที่เกี่ยวข้อง


18 กุมภาพันธ์ 2559
แหล่งข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา

อินโดนีเซียทบทวนสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติใหม่ ประจำปี 2557

        เมื่อปลายปี 2556 รัฐบาลอินโดนีเซียได้ทบทวนสัดส่วนการลงทุน และการถือกิจการของต่างชาติในอินโดนีเซีย (Negative Investments List – DNI) ในสาขาสำคัญต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการท่าอากาศยาน ท่าเรือ โทรคมนาคม โรงไฟฟ้า รวมถึงอัตราส่วนการลงทุนของต่างชาติในลักษณะ PPP ในสาขาต่างๆ ซึ่งรัฐบาล ได้เริ่มทบทวนมาตั้งแต่ปี 2553 รายละเอียดสำคัญ ดังนี้

        1. สาขาที่เปิดให้มีการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น

สาขา อัตราเดิม (%) อัตราใหม่ (%)
สิ่งอำนวยความสะดวกในการคมนาคมทางบก เช่น สถานีรถโดยสาร สถานีรถไฟ 0 49
การตรวจเช็คยานพาหนะ 0 49
เภสัชภัณฑ์ 75 85
ธุรกิจเงินร่วมลงทุน
(Venture capital Financing)
80 85
ธุรกิจโฆษณา
(สำหรับเฉพาะนักลงทุนจากอาเซียน)
0 49

        2. สาขาที่จำกัดการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น

สาขา อัตราเดิม (%) อัตราใหม่ (%)
การกระจายสินค้า 100 33
การจัดเก็บสินค้า 100 33
ห้องเย็น 100 33*/77**
ฟาร์มเกษตรกรรม 95 30
* ในเกาะสุมาตรา ชวา บาหลี / ** ในเกาะกาลิมันตัน สุลาเวสี นูซาเตงการาตะวันออก มาลุกุ และปาปัว

        3. สัดส่วนการลงทุนในสาขาโทรคมนาคม

        ได้แก่ Fixed telecommunications และโครงข่ายโทรคมนาคมมัลติมีเดีย ถูกกำหนดไว้ที่อัตราร้อยละ 65 และที่อัตราร้อยละ 49 สำหรับผู้ให้บริการมัลติมีเดีย ทั้งนี้ จากเดิมที่ไม่มีการควบคุมอัตราส่วนในการลงทุนมาก่อน

        4. อัตราส่วนการลงทุนของต่างชาติในลักษณะ PPP

  • 4.1 ท่าอากาศยาน และสถานีขนส่งทางบก – ร้อยละ 49
  • 4.2 ท่าเรือ ประปา ทางด่วน – ร้อยละ 95
  • 4.3 โรงไฟฟ้า – ร้อยละ 49 สำหรับโรงไฟฟ้ากำลังผลิต 1-10 เมกะวัตต์ และร้อยละ 100 สำหรับโรงไฟฟ้ากำลังผลิตมากกว่า 10 เมกะวัตต์
  • 4.4 การส่งและการกระจายไฟฟ้า (transmission and distribution) – ร้อยละ 100

        5. ข้อสังเกต

        การทบทวนสัดส่วนการลงทุน/การถือกิจการของต่างชาติเป็นหนึ่งในมาตรการที่รัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลผลักดัน โดยเฉพาะนาย Chartib Basri รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย ที่ต้องการออกมาตรการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะในช่วงปี 2556 ที่ผ่านมาการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในอินโดนีเซียมีการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี นอกจากนี้ การเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนในสาขาสำคัญ โดยเฉพาะในโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง น่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันอินโดนีเซียยังไม่สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ ได้อย่างเพียงพอหรือมีคุณภาพดีพอ เพื่อรองรับความต้องการของเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นเป็นลำดับได้

        อย่างไรก็ตาม การทบทวน DNI ได้รับการคัดค้านจากกระแสชาตินิยมในประเทศอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ประธานาธิบดี Yudhoyono ต้องออกมาประกาศชะลอการทบทวนตามข้อเสนอโดยรัฐมนตรีประสานงานเศรษฐกิจ (นาย Hatta Radjasa) และประกาศว่า จะเข้ามาดูแลในรายละเอียดด้วยตนเองโดยจะคำนึงถึง “ผลประโยชน์แห่งชาติ” เป็นหลัก และในที่สุด รัฐบาลก็ต้องปรับลดสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติในบางสาขา อาทิ การบริหารจัดการสนามบินและท่าเรือจากเดิมเสนอไว้ที่อัตราร้อยละ 99 เหลือเพียงร้อยละ 49 ลงเป็นต้น จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรการแก้ไขจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข คือ การผ่อนปรน หรือปรับปรุงมาตรการและสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนในสาขาเหมืองแร่ ซึ่งเดิมเป็นสาขาที่ FDI ไหลเข้าเป็นลำดับต้นๆ แต่เนื่องจากรัฐบาลออกมาตรการหลายประการที่บั่นทอนความเชื่อมั่นจึงทำให้เงินลงทุนในสาขาดังกล่าวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ


28 มกราคม 2557
แหล่งข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา