รายงานเศรษฐกิจ ปี 2558
ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซียประจำไตรมาสที่ 3/2558
1. ภาพรวมเศรษฐกิจ
1.1 ดัชนีทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียแม้ว่าจะยังถือว่าชะลอตัว แต่ได้ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2/2558 เล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นอัตราการขยายตัวของ GDP กระเตื้องขึ้นเล็กน้อย (จากร้อยละ 4.67 มาเป็นร้อยละ 4.73) อัตราเงินเฟ้อลดลง และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 2 ของ GDP โดยนักวิเคราะห์มองว่า ความพยายามเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐเริ่มเห็นผลเล็กน้อยในไตรมาสนี้
1.2 การค้าและการลงทุน
อินโดนีเซียยังคงได้ดุลการค้าต่อเนื่อง จากการนำเข้าที่ลดลงอย่างมาก (ลดลงร้อยละ 19.67) ซึ่งสะท้อนว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว ในขณะที่การส่งออกก็ลดลงเช่นกัน (ร้อยละ 13.29) แต่ยังคงลดลงน้อยกว่าการนำเข้าจึงยังคงได้ดุลการค้าอยู่ ทั้งนี้ อินโดนีเซียยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนชะลอตัว กอปรกับราคาสินค้าส่งออกสำคัญตกต่ำในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน ถ่านหิน สินแร่ ยางพารา น้ำมันปาล์ม นอกจากนี้ การจับจ่ายภายในประเทศยังคงซบเซา และไม่สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินโดนีเซียได้ดีอย่างที่ผ่านมา เห็นได้ชัดจากยอดขายรถยนต์ ซึ่งลดลงประมาณร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้สมาคมผู้ผลิตรถยนต์อินโดนีเซีย(Gaikindo) ได้ปรับลดเป้าการขายรถยนต์ปีนี้ลงเหลือต่ำกว่า 1 ล้านคัน และเป็นปีแรกที่ยอดขายรถยนต์อินโดนีเซียขยายตัวลดลงนับแต่ปี ค.ศ. 2009
อย่างไรก็ดี ในด้านการลงทุนอินโดนีเซียยังได้รับการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ ในไตรมาสนี้ การลงทุนขยายตัวร้อยละ 16.7 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่อัตราร้อยละ 16.2 โดยมีการลงทุนภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เนื่องจากหากเทียบเป็นรายไตรมาสแล้ว FDI ในไตรมาสนี้ ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2558 เท่านั้น
1.3 การเงินและการคลัง
อินโดนีเซียขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลงลงอย่างต่อเนื่อง นับแต่ต้นปี 2558 โดยในไตรมาสนี้ขาดดุล โดยคิดเป็นร้อยละ 1.86 ของ GDP เท่านั้น เนื่องจากมีการนำเข้าลดลง เงินสกุลรูเปียห์ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง ในช่วงสิ้นสุดไตรมาสอยู่ที่ 14,657 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินสกุลรูเปียห์ได้อ่อนค่าลงถึงจุดต่ำสุดที่อัตรา 14,728 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2558 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี ค.ศ. 1998
อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ เงินสกุลรูเปียห์ได้แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 13,500 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของเงินสกุลอื่นในภูมิภาคเช่นกัน โดยในปีนี้ เงินสกุลรูเปียห์ได้อ่อนค่าลงแล้วร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ Jakarta Composite Index (JCI) ปรับตัวดีขึ้น โดยมีอัตราการเติบโตร้อยละ -1.4 (ไตรมาส 2/2558 ร้อยละ -12.7)
2. มาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
2.1 การปรับ ครม.
จากสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยของประเทศ และเสียงตอบรับจากประชาชนที่เริ่มไม่พอใจผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้ ปธน. Jokowi ได้ตัดสินใจปรับ ครม. ครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2558 รวมทั้งหมด 6 ตำแหน่ง ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นตำแหน่ง รมต. ด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย
- นาย Darmin Nasution ดำรงตำแหน่ง รมว. ประสานกิจการเศรษฐกิจ (แทนนาย Sofyan Djalil)
- นาย Rizal Ramli ดำรงตำแหน่ง รมว. ประสานกิจการทางทะเล (แทนนาย Indroyono Soesilo)
- นาย Thomas Lembong ดำรงตำแหน่ง รมว. การค้า (แทนนาย Rachmat Gobel)
- ซึ่งนาย Darmin Nasution และนาย Thomas Lembong ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากภาคเอกชนและนักวิชาการ และนับแต่ดำรงตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่ามีผลงานมากพอสมควร โดยเฉพาะการผลักดันการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลหลายฉบับ
2.2 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
นับแต่เดือน ก.ย. 2558 จนถึงปัจจุบัน รบ.อินโดนีเซียได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาทั้งสิ้น 6 ชุด โดยมาตรการที่ออกในไตรมาส 3/2558 ได้แก่ มาตรการชุดที่ 1เน้นการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ภาคผลิต ผ่านการลดขั้นตอนและความซ้ำซ้อนของกฎระเบียบต่างๆ และเพิ่มความแน่นอนในการประกอบธุรกิจ ในขณะที่มาตรการชุดที่ 2 เน้นการลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตและความยุ่งยากด้านกฎระเบียบ ซึ่งเพิ่มสาขาที่เกี่ยวข้องจากมาตรการชุดที่ 1 และเน้นการให้แรงจูงใจทางภาษี เช่น การลดเวลาการขอ tax allowance และ tax holiday การลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าทุนในบางอุตสาหกรรม และลดอัตราภาษีดอกเบี้ยเงินฝากประจำของผู้ส่งออก ตลอดจนส่งเสริมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการขนส่ง
2.3 ร่าง งปม. ปี 2559
ปธน. Jokowi ได้เสนอร่าง งปม. ปี 2559 เข้าสู่การพิจารณาของสภา ซึ่งระบุดัชนีทางเศรษฐกิจมหภาพที่สำคัญ อาทิ รบ. คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2559 ที่ร้อยละ 5.5 อัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 4.7 งปม. รายจ่ายภาครัฐอยู่ที่ 2,121 ล้านล้านรูเปียห์ โดยได้กำหนดสัดส่วน งปม. ที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไว้ที่ร้อยละ 2.5 ของ GDP ประกอบด้วยการสร้างถนน 376 กม. ทางรถไฟ 110 กม. และสนามบิน 11 แห่ง และได้จัดสรร งปม. จำนวน 201 ล้านล้าน รูเปียห์สำหรับการอุดหนุนด้านพลังงาน และการอุดหนุนด้านการเกษตรต่างๆ
3. ข้อสังเกตและข้อคิดเห็น
3.1 เศรษฐกิจอินโดนีเซียในไตรมาสนี้ยังคงไม่กระเตื้องขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้ามากนัก
จึงคาดการณ์ว่าไตรมาส 4/2558 ศก.อินโดนีเซียน่าจะยังคงเติบโตอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 5 เช่นเดิม ซึ่งจะทำให้ เศรษฐกิจอินโดนีเซียปี 2558 น่าจะเติบโตอยู่ในช่วงร้อยละ 4.7-4.9 ต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลอินโดนีเซียวางไว้ก่อนหน้านี้ว่าปี 2558 จะเติบโตมากถึงร้อยละ 5.7-6 ทั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียน่าจะยังคงทรงตัวในลักษณะนี้ต่อไปจนถึงช่วงกลางปีหน้า
เนื่องจากความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกยังคงมีสูง อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางรายมองในแง่บวกว่า จากดัชนีเศรษฐกิจสำคัญหลายตัวที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียอาจได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วเมื่อไตรมาส 2/2558 ดังนั้นไตรมาสนี้อาจเป็นจุด rebound ซึ่งหลังจากนี้ต่อไป เศรษฐกิจน่าจะกระเตื้องขึ้น แม้ว่าจะในอัตราที่ไม่มากนักก็ตาม
3.2 ปัญหาที่เริ่มเห็นเด่นชัดมากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
คือ ปัญหาการว่างงานที่เพิ่มสูงขั้นอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาบริษัทต่างๆ ได้เริ่มเลิกจ้างแรงงานแล้วจำนวนหลายหมื่นคน โดยอัตราการว่างงานในไตรมาสนี้คือร้อยละ 6.18 ของแรงงานทั้งประเทศ หรือประมาณ 7.56 ล้านคน จากเดิมร้อยละ 5.81 ในไตรมาส 1/2558 โดยกลุ่มสหภาพแรงงานได้ออกมาเดินขบวนหลายครั้ง เรียกร้องให้รัฐบาลเข้าช่วยเหลือไม่ให้นายจ้างประกาศเลิกจ้าง และมองว่าสาเหตุหนึ่งมาจากแรงงานต่างชาติเข้ามาแย่งงานของตน แม้ว่าในความเป็นจริงมีแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในอินโดนีเซียน้อยมาก ประมาณ 65,000 คนเท่านั้น (น้อยกว่าร้อยละ 0.1 ของประชากรทั้งหมด) และในจำนวนดังกล่าว กว่าร้อยละ 70 เป็นระดับผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งหากสถานการณ์ยังไม่พัฒนาไปในทางทีดีขึ้น แนวคิดชาตินิยมดังกล่าวอาจได้รับการสนับสนุนมากขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจบานปลายและก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคมได้
อย่างไรก็ดี ในชั้นนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าว่าจะสามารถลดอัตราการว่างงานดังกล่าวลงเหลือร้อยละ 5.2-5.5 ในปี 2559 จากการลงทุนที่มากขึ้นของทั้งภาครัฐและเอกชน และการเพิ่ม งปม. ให้กับกองทุนหมู่บ้าน และรัฐบาลอินโดนีเซียมีแผนจะออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือนและหมู่บ้านเพิ่มเติมในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับที่ 7
3.3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลอินโดนีเซียส่งสัญญาณที่ดีต่อนักลงทุน
แต่หลายมาตรการเป็นเพียงกรอบกว้าง และบางมาตรการอาจขัดกับกฎระเบียบเดิมที่มีอยู่ ดังนั้น หัวใจสำคัญของผลของมาตรการต่างๆ คือ การนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ หากรัฐบาลอินโดนีเซียสามารถเร่งรัดการเบิกจ่าย และเร่งการดำเนินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น และจะช่วยสร้างงานได้ในระดับหนึ่ง
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา