รายงานเศรษฐกิจ ปี 2565

สถิติเศรษฐกิจและการลงทุนในอินโดนีเซีย ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 (เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2565)

เศรษฐกิจอินโดนีเซียในไตรมาส 3/65

1.1 ขยายตัวร้อยละ 5.72 yoy

ซึ่งเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1/65 (ร้อยละ 5.01) และไตรมาส 2/65 (ร้อยละ 5.44 yoy) โดยการขยายตัวในไตรมาสนี้นับว่าตรงตามที่รัฐบาลอินโดนีเซียคาดหมายไว้ แม้จะต่ำกว่าการคาดการณ์ของธนาคาร Mandiri (ร้อยละ 6 yoy) และ Moody’s Analytics (ร้อยละ 6.01 yoy) ก็ตาม อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตช้าลง เนื่องจากขยายตัวจากไตรมาส 2/65 เพียงร้อยละ 1.81 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/65 ที่ขยายตัวจากไตรมาสที่ 1/65 ถึงร้อยละ 3.72

1.2 การขยายตัวดังกล่าวเป็นผลมาจากปัจจัยทั้งภายนอก และภายในประเทศ

กล่าวคือ (1) การส่งออกของอินโดนีเซียยังไปได้ดีและได้ดุลการค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.58 yoy ในไตรมาสนี้ หรือ 14.92 พันล้าน USD รวมทั้งสินค้าส่งออกที่สำคัญ อาทิ น้ำมันปาล์ม นิกเกิล ถ่านหิน มีราคาสูงขึ้นในตลาดโลก (2) นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจปลายน้ำ (3) การผ่อนคลายนโยบายการเดินทางจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ทุเลาลง (4) นโยบายการรักษากำลังการใช้จ่ายของประชาชน อาทิ การอุดหนุนราคาพลังงาน ซึ่งทำให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.39 yoy ในไตรมาสนี้ อย่างไรก็ดี อัตราดังกล่าว ยังต่ำกว่าของไตรมาส 2/65 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.51 yoy และ (5) นโยบายส่งเสริมการลงทุน การดำเนินธุรกิจ และการช่วยเหลือกิจการ MSMEs อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ มูลค่าการค้าปลีกยังเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 5.52 yoy และรัฐบาลอินโดนีเซียสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26.10 yoy ในไตรมาสที่ 3/65

1.3 ธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่มีส่วนส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ ในไตรมาส 3/65

อย่างมีนัยสำคัญ คือ (1) การขนส่งและโกดัง ซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 25.81 yoy (2) ธุรกิจการบริการ (hospitality services) ขยายตัวร้อยละ 17.83 yoy สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการป้องกัน COVID-19 การเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง แม้ค่าโดยสารจะเพิ่มสูงขึ้น (3) ภาคการผลิต/แปรรูป (manufacturing sector) ขยายตัวร้อยละ 4.83 yoy ซึ่งทำให้เห็นว่าในภาพรวมเศรษฐกิจ ในไตรมาสที่ 3/65 ยังคงฟื้นตัว อย่างไรก็ดี หากจะบรรลุเป้าหมายให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในปี 65 อยู่ที่ร้อยละ 5.3 yoy รัฐบาลอินโดนีเซียต้องผลักดันให้เศรษฐกิจ ในไตรมาส 4/65 เติบโตอย่างน้อยร้อยละ 5 yoy


2. การลงทุนในไตรมาส 3/65

2.1 มีมูลค่ารวม 307.8 ล้านล้าน IDR (ประมาณ 19.8 พันล้าน USD)

ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 qoq และร้อยละ 42.1 yoy โดยทำให้เกิดการจ้างงานชาวอินโดนีเซียเพิ่ม 3.25 แสนคน

2.2 ในไตรมาสนี้อินโดนีเซียได้รับการลงทุนจาก

(1) ต่างประเทศ (FDI) มูลค่า 168.9 ล้านล้าน IDR (ประมาณ 10.86 พันล้าน USD) เพิ่มขึ้นร้อยละ 63.6 yoy ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.9 ของการลงทุนทั้งหมด ในไตรมาสนี้ โดยสาขาที่ต่างชาตินิยมลงทุนมากที่สุดคืออุตสาหกรรมปลายน้ำเพื่อแปรรูปแร่เหล็ก และ (2) การลงทุนภายในประเทศ (DDI) มูลค่า 138.9 ล้านล้าน IDR (ประมาณ 8.93 พันล้าน USD) เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5 yoy

2.3 การลงทุนระหว่างเดือน ม.ค. - ก.ย. 65

2.3.1 มีมูลค่ารวม 892.4 ล้านล้าน IDR (ประมาณ 57.5 พันล้าน USD) เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.3 yoy และคิดเป็นร้อยละ 92.1 ของเป้าหมายดึงดูดการลงทุนตามแผน National Medium-Term Development (RPJMN) ปี ค.ศ. 2020-2024 (ตั้งเป้าหมายรับเงินลงทุนไว้ 968.4 ล้านล้าน IDR หรือ 64.3 พันล้าน USD) และร้อยละ 74.36 ของเป้าหมายที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซียตั้งไว้สำหรับการดึงดูดเงินลงทุนสำหรับปี 2565 (ตั้งเป้าหมายไว้ 1,200 ล้านล้าน IDR หรือประมาณ 79.7 พันล้าน USD)

2.3.2 การลงทุนในห้วงนี้ สามารถสร้างงานให้ชาวอินโดนีเซียได้ทั้งสิ้น 965,122 คน

2.3.3 ธุรกิจที่มีการลงทุนมากที่สุด (DDI + FDI) 5 อันดับแรก คือ (1) ธุรกิจเหล็กกล้า การแปรรูปและผลิตสินค้าจากเหล็กกล้าที่ไม่ใช่เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ (2) ธุรกิจขนส่ง/คลังสินค้า/การสื่อสารโทรคมนาคม (3) ธุรกิจเหมืองแร่ (4) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (และ (5) ธุรกิจด้านไฟฟ้า ก๊าซ และประปา


ที่มา :