ขั้นตอนการจัดตั้งบริษัท

        บริษัทต่างประเทศทุกบริษัทที่มีแผนจะดำเนินการลงทุนในอินโดนีเซีย จะต้องยื่นขอใบอนุญาตการลงทุนจาก Investment Coordinating Board ของอินโดนีเซีย (BKPM) โดย BKPM จะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบและออกใบอนุญาตในการลงทุนสาขาต่างๆ เช่น การธนาคาร การเงิน พลังงานและเหมืองแร่ บริษัทต่างชาติที่จะยื่นขอใบอนุญาตการลงทุนได้จะต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำ 2 แสนดอลลาร์สหรัฐ และต้องชำระเงินลงทุนแล้วไม่ต่ำกว่า 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างชาติสามารถยื่นคำขอใบอนุญาตการลงทุนได้ที่
สถานทูตอินโดนีเซียในต่างประเทศได้

        ก่อนการขอรับใบอนุญาตการลงทุน นักลงทุนต่างชาติจะต้องศึกษากฎระเบียบการลงทุนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อน เพราะภาคการลงทุนบางประเภทไม่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติดำเนินการ และการลงทุนบางประเภทที่จำกัด อัตราการถือหุ้นหรือความเป็นเจ้าของกิจการของนักลงทุนต่างชาติต้องมีใบอนุญาตพิเศษด้วย

        การลงทุนจากต่างประเทศโดยส่วนใหญ่จะต้องมีใบอนุญาตดำเนินธุรกิจอย่างถาวร (Permanent Business Permit- IUT) ซึ่งขั้นตอนการลงทุนจะแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนดังนี้

(1) ขั้นตอนการอนุมัติการลงทุน (Investment Approval Phase)

        การสมัครเพื่อขออนุมัติการลงทุนสามารถที่จะกระทำก่อนการจัดตั้งบริษัทใหม่ หรือจะดำเนินการตั้งบริษัทก่อนการขออนุญาตก็ได้ หากเป็นการลงทุนในเขตปลอดอากร (bonded zone) การยื่นขออนุญาตการลงทุนจะต้องยื่นต่อผู้มีอำนาจในเขตปลอดอากร (bonded zone) นั้นๆ

        การขออนุมัติการลงทุนจะใช้เวลาประมาณ 10 วันสำหรับการขออนุมัติเบื้องต้น (Initial Approval: SPPP BKPM) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 3 ปี หลังจากที่ได้รับการอนุมัติเบื้องต้นแล้วผู้ลงทุนก็สามารถดำเนินการจัดตั้งบริษัท (PT) โดยใช้ Indonesian Notary Public ซึ่งจะมีเอกสารจำเป็นที่แสดงว่าได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยกระทรวงยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนของอินโดนีเซีย (Ministry of Justice and Human Rights)

        เมื่อปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดแล้ว ผู้ลงทุนก็จะได้รับเอกสารประกอบการหรือเอกสารจัดตั้งบริษัท (Notaries document) และจะต้องลงทะเบียนที่อยู่ของบริษัทกับรัฐบาลท้องถิ่นและเทศบาล

        นอกจากนี้ นักลงทุนจะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ชำระภาษีเพื่อให้ได้เลขทะเบียนผู้เสียภาษี (Tax Payer Registration Number: NPWP) และเลขที่ยืนยันนักธุรกิจผู้เสียภาษี (Taxable Businessman Confirmation Number: NPPKP)

        หลังจากที่ดำเนินการตามเงื่อนไขต่างๆ ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ผู้ขออนุมัติการลงทุนก็จะได้รับหนังสืออนุมัติการลงทุนถาวรสำหรับการลงทุน (Permanent Approval Letter: SPT) ซึ่งทำให้นักลงทุนสามารถเริ่มลงทุนได้

(2) ขั้นตอนการก่อสร้าง (Phase of Construction)

        การบริหารจัดการและใบอนุญาตที่เกี่ยวกับขั้นตอนการก่อสร้างจะเกี่ยวข้องกับ หน่วยงาน 2 หน่วยงานได้แก่

        (1) Investment Coordinating Board ของรัฐบาลกลางอินโดนีเซีย (BKPM) ซึ่งทำหน้าที่ออกใบอนุญาตต่างๆ เช่น

  • ใบอนุญาตเป็นผู้นำเข้า (Limited Importer License: APIT)
  • ใบอนุมัติแผนกำลังคน (RPTKA/TA.01)
  • หนังสืออนุมัติศุลกากร (มีรายการสินค้าทุน)
  • หนังสืออนุมัติศุลกากร (มีรายการของวัตถุดิบ)

        (2) หน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่นซึ่งทำหน้าที่ออกใบอนุญาตต่างๆ ได้แก่

  • ใบอนุญาตสำหรับทำเลที่ตั้ง (Location Permit) ซึ่งจะออกโดยสำนักงานที่ดินท้องถิ่นจำเป็นสำหรับ land clearing
  • โฉนดที่ดิน สำหรับที่ดินที่มีพื้นที่มากกว่าหรือเท่ากับ 200 เฮกเตอร์จะออกโดยสำนักงานที่ดินท้องถิ่น
    สำหรับใบอนุญาต Cultivation Rights Title สำหรับที่ดินที่มีพื้นที่น้อยกว่า 200 เฮกเตอร์จะออกโดยสำนักงานที่ดินจังหวัด
  • ใบอนุญาต Building Rights Title และใบอนุญาตก่อสร้างจะออกโดยสำนักงานตำบล ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ได้รับ
    ใบอนุญาตต่างๆ แล้ว ผู้ลงทุนอาจเริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งต่างๆ ที่ใช้สำหรับการผลิต โดยผู้ลงทุนจะต้องส่งรายงานความคืบหน้าที่การดำเนินกิจกรรมการลงทุนต่อ Investment Coordinating Board ทุก 6 เดือน

(3) ขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ (Commercial Phase)

        ขั้นตอนนี้จะเกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตดำเนินธุรกิจถาวร (Permanent Business License: IUT) ซึ่งจะออกให้กับบริษัทเมื่อบริษัทได้ดำเนินการขอใบอนุญาตต่างๆ ครบถ้วนตามที่กำหนด ได้แก่ ใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออกจากกระทรวงการค้า และแผนกำลังคนจากกระทรวงแรงงาน โดยภายหลังจากที่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานผู้มีอำนาจ ผู้ลงทุนก็จะได้รับใบอนุญาตดำเนินธุรกิจถาวรซึ่งจะมีผลบังคับใช้ถึง 30 ปีและสามารถเริ่มดำเนินการผลิตได้

        เอกสารสำหรับการขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจถาวร ได้แก่

  1. สำเนาเอกสารการจัดตั้งบริษัทจากกระทรวงยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน
  2. สำเนาเอกสารการใช้ประโยชน์บนที่ดินคือ Building Rights Title และโฉนด ที่ดิน หรือเอกสารการซื้อขายที่ดิน
    จากสำนักงานโฉนดที่ดินหรือสำเนาสัญญาการเช่าที่ดิน
  3. หลักฐานการเป็นเจ้าของอาคาร พร้อมสำเนา Building Construction Permit หรือเอกสารการซื้อขายอาคาร
  4. สำเนา Tax Registration Code
  5. สำเนาใบอนุญาต Hindrance Act และใบอนุญาตสำหรับทำเลที่ตั้ง
  6. สำเนาการอนุมัติแผนการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management Plan: RKL) สำหรับธุรกิจที่ต้องการ Environment Impact Analysis และ/หรือแผนการควบคุมเรื่องสิ่งแวดล้อม (Environmental Monitoring Plan) สำหรับธุรกิจที่ไม่ต้องการ Environment Impact Analysis
  7. ใบมอบอำนาจที่มีอากรแสตมป์ 6 พันรูเปียห์สำรหับการขออนุญาตดำเนินการโดยตัวแทน (Proxy)
  8. สำเนารายงานเกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินกิจกรรมการลงทุน

การจัดตั้งบริษัทตัวแทน (Representative Office)

        บริษัทต่างประเทศที่เป็นบริษัทตัวแทนที่มิใช่ธุรกิจสาขาการเงินจะต้องจัดตั้งขึ้นเมื่อได้รับความเห็นชอบจากประธาน Investment Coordinating Board (BKPM) โดยการยื่นขออนุญาตหรือขอความเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทตัวแทนนั้น

        ผู้ยื่นคำขอจะต้องยื่นสำเนารูปแบบการจัดตั้งบริษัทตัวแทนจำนวน 2 ชุดให้แก่หน่วยงาน Investment Coordinating Board

        พร้อมเอกสารต่างๆ ดังนี้

  1. หนังสือคำแถลงของสมาคมบริษัทต่างประเทศที่เป็นตัวแทน
  2. หนังสือแต่งตั้งการเป็นตัวแทนจากบริษัทต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้เสนอให้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารบริษัทตัวแทน
    ในต่างประเทศ
  3. สำเนาหนังสือเดินทาง (คนต่างชาติ) หรือสำเนาบัตรประจำตัว (คนอินโดนีเซีย) ผู้ซึ่งจะได้รับการเสนอให้เป็นผู้บริหารของบริษัทตัวแทนในต่างประเทศ
  4. จดหมายยืนยันความตั้งใจในการพักอาศัย และการทำงานในตำแหน่งที่เป็นผู้บริหารของบริษัทตัวแทนในต่างประเทศ โดยมีข้อจำกัดว่าจะไม่ทำงาน/ธุรกิจอื่นใดในประเทศอินโดนีเซีย
  5. กรณีที่ผู้บริหารของบริษัทต่างประเทศมิได้ยื่นคำขอเองจะต้องมอบอำนาจให้กับตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ (Power Attorney) เป็นผู้ดำเนินการลงลายมือชื่อในคำขอ

พฤษภาคม 2553
แหล่งข้อมูล: สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.depthai.go.th