รายงานเศรษฐกิจ ปี 2557

ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอินโดนีเซีย รอบไตรมาส 1/2557

1. ภาพรวม

1.1 ภายหลังจากที่เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวต่ำสุดในรอบ 4 ปี เมื่อไตรมาส 4/2556 ที่ร้อยละ 5.72

เศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นจากหลายดัชนีในไตรมาส 1/2557 อาทิ อัตราเงินเฟ้อที่ทยอยปรับตัวลดลงเป็นลำดับ (ม.ค. ร้อยละ 8.22 / ก.พ. ร้อยละ 7.75 และ มี.ค. ร้อยละ 7.32) ในขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศก็ทยอยปรับเพิ่มสูงขึ้นเกินเกณฑ์จิตวิทยา 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากที่ต่ำกว่าเกณฑ์ในไตรมาสที่ 4/2557 โดยเดือน ม.ค. อยู่ที่ประมาณ 100.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก.พ. อยู่ที่ประมาณ 102.74 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มี.ค. 102.59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และน่าจะทยอยปรับสูงขึ้นอีกในเดือนถัดไป (เม.ย. 2557)

นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 1/2557 ค่าเงินรูเปียห์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเป็นลำดับจากสิ้นปี 2556 อยู่ที่ประมาณ 12,250 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 11,360 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 7.1 จากที่ปีก่อนอ่อนค่าลงถึงร้อยละ 26 ส่งผลให้เงินรูเปียห์เป็น the best performing currency ในเอเชียเพราะปัจจัยบวกดังกล่าวทั้งในเรื่องทุนสำรอง เงินเฟ้อลดลง และการขาดดุลการค้าที่ลดลง

อย่างไรก็ตามเมื่อสหรัฐฯ ประกาศปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) และมีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ย เงินลงทุนต่างชาติก็ทยอยไหลออก ส่งผลให้เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ในไตรมาส 1/2557 ปรับตัวลดลงจากที่ทั้งธนาคารกลางและรัฐบาลเคยคาดการณ์ไว้ที่ประมาณร้อยละ 5.7-5.8 เหลือเพียง ร้อยละ 5.2 อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว และไม่ปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 7.5

1.2 ตัวเลขการค้าและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาส 1/2557 ปรับตัวดีขึ้น โดย ม.ค. 2557 ขาดดุลการค้า 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แต่กลับมาได้ดุลการค้าในเดือน ก.พ. และ มี.ค. ที่ 785.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 670 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ส่งผลให้ไตรมาส 1/2557 ได้ดุลการค้าประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการได้ดุลการค้าเป็นผลมาจาการการนำเข้าที่ลดลงอย่างมากในสินค้าประเภท non-oil/gas ซึ่งรวมถึงการนำเข้าสินค้าทุน อาทิ วัตถุดิบและเครื่องจักรกล ในขณะที่ส่งออกสินค้าประเภทน้ำมันปาล์มและถ่านหินได้มากขึ้น ทั้งนี้ สาเหตุการนำเข้าชะลอตัวลงเพราะรัฐบาลพยายามลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจลง เพื่อลดอัตราการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ตามคำแถลงของ รมว. กค. อินโดนีเซีย ซึ่งนับว่าประสบผลสำเร็จ โดย Purchasing Managers’ Index หรือ PMI ซึ่งเป็นดัชนี้ชี้วัดภาคการผลิตของอินโดนีเซีย ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 50.1 ในเดือน มี.ค. 2557 ต่ำที่สุดในรอบ 7 เดือน ส่งผลให้ในไตรมาส 1/2557 ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงจาก 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 2.12 ของ GDP) เหลือ 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 2.06 ของ GDP) รมว. การค้า อินโดนีเซีย แสดงความมั่นใจว่า ในปีนี้ อินโดนีเซียจะสามารถส่งออกได้ตามเป้าที่ 190 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปี 2556 หรือเท่ากับอัตราเดิมที่เคยส่งออกเมื่อปี 2555

1.3 การลงทุนจากต่างชาติ (FDI) ในไตรมาส 1/2557 มีมูลค่า 6.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตเพียงร้อยละ 9.8 (YoY) จากไตรมาสก่อนที่เติบโตร้อยละ 25.4

เนื่องจากเศรษฐกิจในภูมิภาคยังคงชะลอตัว และนักลงทุนยังคงรอดูสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และผลการเลือกตั้ง แต่สาขาเหมืองแร่เริ่มกลับเป็นสาขาที่เงินลงทุนไหลเข้าไปมากที่สุดหลังจากที่ไตรมาสก่อนมีการไหลเข้าของเงินลงทุนลดลงไป อย่างไรก็ตาม แม้ FDI ขยายตัวลดลง แต่การลงทุนภายในประเทศ (DDI) กลับขยายตัวเพิ่มอย่างต่อเนื่องที่อัตราร้อยละ 25.9 ทำให้ยอดรวมการลงทุนทั้งหมดอยู่ที่ 106.6 ล้านล้านรูเปียห์ หรือขยายตัวร้อยละ 14.6 ส่งผลให้ สถานะการขาดดุลการชำระเงินดีขึ้น โดยลดลงจาก 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 4/2556 เหลือ 2.2 พันล้านในไตรมาสนี้ เงินลงทุนในตราสารต่างๆ และในตลาดทุนปรับตัวดีขึ้น โดยมีเงินทุนไหลเข้ามากถึง 4.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนทยอยไหลออกก่อนสิ้นไตรมาส ทั้งนี้ แม้ว่าการลงทุนอาจชะลอตัวลงบ้าง แต่ อินโดนีเซียยังคงได้รับการจัดลำดับว่าเป็นประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุดจากการสำรวจของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JBIC) เมื่อปี 2556 เนื่องจากมีตลาดภายในขนาดใหญ่ และค่าแรงถูก โดยในปี 2556 นักลงทุนญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนใน อินโดนีเซีย มากเป็นอันดับ 1

2. มาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

2.1 การห้ามส่งออกแร่ดิบ – ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค. 2557 ทางการอินโดนีเซียได้ออกกฎหมายห้ามการส่งออกสินแร่ที่ยังไม่ผ่านการถลุง ได้แก่ นิกเกิล บอกไซต์ โครเมียม ทองคำ เงิน และดีบุก ในขณะที่สินแร่บางชนิด ได้แก่ ทองแดง เหล็ก แมงกานีส สังกะสี และตะกั่ว ยังคงส่งออกได้หากผ่านกระบวนการถลุงบางส่วนและมีค่าความบริสุทธิ์ตามกำหนด และหากผู้ประกอบการเหมืองแร่ให้ค่ำมั่นที่จะสร้างโรงถลุง นอกจากนี้ กค. ได้ประกาศอัตราภาษีส่งออกสินแร่บางชนิดที่ยังอนุโลมให้ส่งออกได้ในอัตราที่สูง เพื่อเป็นปัจจัยกดดันให้ผู้ประกอบการถลุงแร่ในประเทศก่อนส่งออก ทั้งนี้ นับแต่กฎหมายเริ่มบังคับใช้การส่งออกสินค้าประเภทสินแร่ตกต่ำลงอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้การส่งออกในเดือน ม.ค. 2557 ขาดดุล อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการเหมืองรายใหญ่ต่างเข้าล็อบบี้กับทางการอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เหมือง Freeport และ Newmont ซึ่งเป็นเหมืองทองแดงขนาดใหญ่ ได้รับหนังสือรับรอง (recommendation letter) จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ อินโดนีเซีย ให้นำไปยื่นขอใบอนุญาตและโควต้าส่งออกหัวแร่ทองแดง (copper concentrate) กับกระทรวงการค้า และอยู่ระหว่างการเจรจาลดอัตราภาษีส่งออกกับ กค. โดยคาดว่าจะกลับมาส่งออกได้อีกครั้งในเดือน เม.ย. 2557

2.2 กฎหมายการค้าใหม่ (New Trade Law) เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2557 รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศกฎหมายการค้าฉบับใหม่แทนกฎหมายเดิมซึ่งใช้ตั้งแต่สมัยดัชท์ กฎหมายดังกล่าวถูกวิจารณ์จากนักลงทุนต่างชาติว่าเป็นกฎหมายชาตินิยมและกีดกันการค้า (protectionism) เพราะให้อำนาจรัฐบาลในการควบคุมการนำเข้า-ส่งออกสินค้ามากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ภายหลังจากรัฐบาลได้ประกาศใช้กฎหมายอุตสาหกรรมฉบับใหม่ไปเมื่อเดือน ธ.ค. 2556 ซึ่งก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นกฎหมายชาตินิยมเช่นกันเพราะให้อำนาจรัฐบาลในการกำกับควบคุมการทำงานของแรงงานต่างชาติในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมไปถึงบังคับให้ถ่ายทอดเทคโนโลยี สามารถกำหนดโควต้าส่งออกสินค้าต่างๆ และถ่านหิน โดยนักลงทุนมองว่า กฎหมายเหมืองแร่ ปี ค.ศ. 2009 และกฎหมายการค้าและกฎหมายอุตสาหกรรมฉบับใหม่จะเป็น 3 กฎหมายหลักที่จะทำให้อินโดนีเซียใช้มาตรการเชิงชาตินิยมได้มากยิ่งขึ้น

3. ข้อคิดเห็น

3.1 แม้ว่าดัชนี้ชี้วัดทางเศรษฐกิจสำคัญหลายดัชนีจะส่งสัญญาณในทางที่ดีขึ้น แต่เศรษฐกิจไตรมาส 1/2557 กลับขยายตัวน้อยกว่าไตรมาส 4/2556 ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี (จากร้อยละ 5.72 ลดลงเป็นร้อยละ 5.21) ซึ่งน่าจะเป็นเพราะการบริโภคภาคครัวเรือนขยายตัวลดลง ประกอบกับส่งออกได้น้อยลง แต่สามารถเกินดุลการค้าเพราะรัฐบาลประสบความสำเร็จในการลดการนำเข้า นอกจากนี้ ยังเกิดความผันผวนในภาคการลงทุน จึงทำให้โดยรวมเศรษฐกิจในไตรมาสนี้ขยายตัวลดลงกว่าไตรมาสก่อน โดยหากเทียบระหว่างไตรมาส 4/2556 กับ ไตรมาส 1/2557 จะเติบโตเพิ่มเพียงร้อยละ 0.95 แต่หากเทียบ Y-o-Y จึงขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.21 อย่างไรก็ตาม กระแส Jokowi และกระแสเลือกตั้ง ผลักดันเศรษฐกิจขับเคลื่อนไม่ได้ตามเป้า โดยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เพียงร้อยละ 0.1 ในขณะที่รัฐบาลคาดว่าจะทำได้อย่างน้อยร้อยละ 0.3 แต่ต้องยอมรับว่า มาตรการที่ทางการประกาศใช้เพื่อลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดส่งผลเชิงบวกค่อนข้างมาก ส่งผลให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงเป็นลำดับ รวมถึงสามารถลดการนำเข้าสินค้าประเภททุนได้ จึงทำให้สถานะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ โดยเฉพาะในตลาดทุน (ไม่ใช่ FDI) เป็นเหตุให้ตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย (JCI) ขยายตัวอย่างต่อเนื่องก่อนจะชะลอตัวลงในช่วงปลายไตรมาส

3.2 ในไตรมาสนี้ รัฐบาลไม่ได้ออกกฎหมายหรือมาตรการใดมากนัก นอกจากการบังคับใช้กฎหมายห้ามส่งออกแร่ดิบ และกฎหมายการค้าฉบับใหม่

หลังจากประกาศใช้กฎหมายอุตสาหกรรมฉบับใหม่ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ในภาพรวมกฎหมายทั้ง 3 ฉบับถูกมองจากนักลงทุนต่างชาติว่า เป็นเครื่องมือแห่งกระแสชาตินิยมที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าว (กฎหมายการค้าและอุตสาหกรรม) เป็นเพียงกรอบกว้างๆ ที่ให้อำนาจรัฐในการปกป้องเศรษฐกิจภายใน รายละเอียดในการปกป้องจะต้องไปออกเป็นกฎหมายลูก เช่น กฎกระทรวง คำสั่งประธานาธิบดี ฯลฯ จำนวนมาก จึงขึ้นอยู่กับว่า ผู้นำในรัฐบาลใหม่จะเลือกเดินเส้นทางใด หากจะใช้กระแสชาตินิยมสุดโต่งกฎหมายลูกที่จะออกมาอาจมีความเข้มข้นมาก ทั้งนี้ อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติมองว่า นาย Jokowi ผู้สมัครจากพรรค PDI-P น่าจะดีกว่านายพล Prabowo จากพรรค Gerinda เพราะนอกจากเป็นคนมีชื่อเสียงเรื่องความสมถะ ซื่อสัตย์แล้ว ยังไม่แสดงท่าทีเรื่องชาตินิยมมากเท่านายพล Prabowa แต่เมื่อผลการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรออกมาในแนวว่า พรรค PDI-P กลับได้คะแนนนิยมต่ำกว่าที่คาดไว้ ในขณะที่พรรค Gerinda กลับได้คะแนนนิยมมากกว่าที่ poll ประเมิน จึงน่าจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า กรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซียอย่างไรในไตรมาส 2-3


22 พฤษภาคม 2557
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา