รายงานเศรษฐกิจ ปี 2556

ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอินโดนีเซีย รอบไตรมาส 1/2556

1. ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย

1.1 ธนาคารกลางอินโดนีเซียคาดว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียไตรมาส 1/2556 จะขยายตัว ร้อยละ 6.2

ด้วยปัจจัยขับเคลื่อนเดิมคือภาคบริโภคภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 20 เดือนที่ผ่านมาโดยในเดือน
ก.พ. 56 อยู่ที่ร้อยละ 5.3 (YoY) เนื่องจากราคาอาหารเพิ่มขึ้นและอัตราค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15 (เริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค. 56) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศประเทศในเดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ 108.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และลดลงเหลือ 105.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. 56 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำสุดอีกครั้งหลังจากที่เคยต่ำสุดเมื่อเดือน มี.ค. 2554 ที่ 105.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
เนื่องจากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น รวมทั้ง ใช้ในการแทรกแซงค่าเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเงินรูเปียห์ อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงเรื่อยๆ จากสิ้นปี 2555 ที่ระดับ 9,660 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 9,700-9800 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำสุดที่ 9,817 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 5 เดือน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจตลอดปี 2556 น่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.3-6.8 แต่ธนาคารโลกประกาศปรับลดประมาณการณ์การเติบโตเศรษฐกิจอินโดนีเซียจากร้อยละ 6.3 เป็นร้อยละ 6.2

1.2 กระทรวงการค้าอินโดนีเซียเปิดเผยว่า หลังจากปี 2555 ซึ่งขาดดุลการค้าประมาณ 1.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในเดือน ม.ค. ประเทศขาดดุลการค้าจำนวน 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่นับว่าดีกว่าเดือน ธ.ค. 55 ที่ขาดดุล 189 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ในรอบปี 2555 อินโดนีเซียขาดดุลการค้าครั้งแรกเป็นประวัติการณ์คิดเป็นมูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระยะเวลา 2503 – 2554 บัญชีดุลการค้าอินโดนีเซียค้าเกินดุลอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาโดยตลอด) มูลค่าการส่งออก 15.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวลงร้อยละ 1.2 (YoY) มูลค่าการนำเข้า 15.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 6.8 (YoY) สินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็น สินค้าประเภททุน และน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติซึ่งนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.82 (YoY) ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้นโยบาย
อุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกประเภทน้ำมันปาล์ม ถ่านหินและยางพาราก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 (YoY) ช่วยพยุงให้ดุลการค้าดีขึ้นกว่าช่วงสิ้นปี 2555 ทั้งนี้ รมว. การค้าอินโดนีเซียคาดว่าในไตรมาส 1/2556 จะขาดดุลการค้าประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และตลอดปี 2556 น่าจะขาดดุลการค้าราว 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

1.3 นาย Chatib Basri ประธาน Indonesian Investment Coordinating Board (BKPM)

BKPM จะทบทวนบัญชีประเภทอุตสาหกรรมสงวน (negative investment list) หลังจากที่เคยปรับปรุงล่าสุดเมื่อปี 2553 เพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์และบรรยากาศการลงทุนให้ดีขึ้น ทั้งนี้ เป้าหมายการลงทุนในปี 2556 กำหนดไว้ที่390 ล้านล้านรูเปียห์หรือสูงกว่าร้อยละ 40 ของเป้าหมายในปี 2555 (ในปี 2555 BKPM ตั้งเป้าหมายการลงทุนที่มูลค่า 283.5 ล้านล้านรูเปียห์ และมูลค่าการลงทุนที่แท้จริงคิดเป็น 313.2 ล้านล้านรูเปียห์หรือ 32.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการเหมืองแร่ Transportation, storage and telecommunication และอุตสาหกรรมรถยนต์) ทั้งนี้ การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของมูลค่าการลงทุน
ทั้งหมด และในปี 2555 FDI มีมูลค่า 24.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จากปี 2554

2. มาตราการทางเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงไตรมาส 1/2556

2.1 การจำกัดการนำเข้าสินค้าพืชสวนต่างประเทศ รัฐบาลประกาศมาตรการห้ามนำเข้าพืชสวน จากต่างประเทศจำนวน 13 รายการเป็นเวลา 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.)

รวมทั้ง มาตรการจำกัดท่าเรือนำเข้า โดยสินค้าที่อยู่ในประกาศกระทรวงการค้าที่ 60/2012 หากนำเข้าจะต้องได้รับอนุญาต (โควต้า) จากกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบเชิงลบต่อประชาชนอินโดนีเซียมากกว่าผลเชิงบวกเห็นได้จากในไตรมาส 1/2556 ราคากระเทียม หอมแดง และพริกที่ครัวเรือนอินโดนีเซียนิยมใช้ประกอบอาหารพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากขาดแคลน โดยเฉพาะกระเทียม ราคาขึ้นไปถึงเกือบ 6 เท่า ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผู้นำเข้าหลายรายอาศัยโอกาสดังกล่าวกักตุนสินค้า จนทำให้ ปธน. ต้องสั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหา กระทรวงการค้าจึงประกาศอนุญาตให้นำเข้ากระเทียมจำนวน 135,000 ตัน ซึ่งคิดเป็นประมาณ
ร้อยละ 90 ของโควต้าครึ่งปีแรกของปี 2556 ที่กระทรวงเกษตรให้ความเห็นชอบไว้ (โควต้ากระเทียมทั้งปี 300,000 ตัน ครึ่งปีแรกเท่ากับ 150,000 ตัน)

2.2 การประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 56 เป็นต้นมา

ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs และอุตสาหกรรมใช้แรงงาน (labour-intensive industry) อย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อยจำนวนมากเริ่มหันไปเป็นผู้นำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีน เวียดนาม ไทยมาจำหน่ายแทนการเป็นผู้ผลิตเอง ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติ เช่น เกาหลีและอินเดียเริ่มย้ายโรงงานผลิตไปประเทศอื่น (ในปี 2555 เกาหลีเป็นประเทศที่ลงทุนในอินโดนีเซียมากเป็นลำดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์และญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่า 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 7.9 ของมูลค่า FDI ในอินโดนีเซีย) นอกจากนี้ ยังอาจกระทบอัตราการเจริญเติบโตในภาพรวมของอินโดนีเซีย เพราะชนชั้นแรงงานซึ่งเป็นลูกจ้างในบริษัทที่ได้รับผลกระทบอาจถูกปลดออกจากงานทำให้กำลังการบริโภคภายในซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญชะลอการเติบโต

2.3 มาตรการควบคุมให้ผู้ประกอบการที่มีรายได้เป็นเงินสกุลต่างประเทศนำเงินกลับเข้ามาฝากกับ ธนาคารในประเทศภายในระยะเวลา 6 เดือน

กฎระเบียบดังกล่าว มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 56 ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการ ที่รัฐบาลประกาศใช้ เพื่อลดความผันผวนของค่าเงินรูเปียห์ นอกจากการประกาศให้บริษัทค้าเงินตราต่างประเทศ quote ราคาจากสถาบันในประเทศเท่านั้นห้าม quote จากตลาดต่างประเทศ และการประกาศว่ารัฐบาลและรัฐวิสาหกิจจะเข้าเก็งกำไรค่าเงิน (hedging) เพื่อชะลอความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งมาตรการดังกล่าวเริ่มบังคับอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยธนาคารกลางและกระทรวงการคลังเริ่มะงับการให้ใบอนุญาตส่งออกกับบริษัทกว่า 20 บริษัทที่ประกอบกิจการเหมืองแร่ การผลิต ธุรกิจการเกษตร ฯลฯ รวมทั้ง กรมศุลกากรได้งดเว้นการให้บริการพิธีการศุลกากรขาออกกับบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ซึ่งรัฐบาลประกาศว่า กฎระเบียบดังกล่าวครอบคลุมถึงบริษัทน้ำมันต่างชาติด้วย แต่ในชั้นนี้ บริษัทน้ำมันต่างชาติที่ได้รับสัมปทานตามสัญญา production sharing contracts (PSCs) คัดค้านอย่างรุนแรง โดยบอกว่า กฎระเบียบดังกล่าวขัดกับข้อตกลงในสัญญา PSCs และอาจนำกรณีนี้เข้าสู่การพิจารณาคดีความระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ บริษัทน้ำมันต่างชาติบางรายเริ่มนำเงินรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเข้ามาฝากกับธนาคารต่างประเทศที่มีสาขาในอินโดนีเซียบ้างแล้ว แต่บริษัทใหญ่ เช่น Cheveron ซึ่งเป็นขุดเจาะน้ำมันรายใหญ่ และ Total ซึ่งขุดเจาะก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ยังมิได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าว

3. ระบบเศรษฐกิจอินโดนีเซียเริ่มสะท้อนให้เห็นความอ่อนแอของโครงสร้างเศรษฐกิจใน หลายๆ มิติ

เช่น ในขณะที่เงินทุนระหว่างประเทศไหลเข้าจำนวนมากสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาส 3-4 ของปี 2555 ซึ่งในเชิงทฤษฎีค่าเงินรูเปียห์ควรแข็งค่าขึ้น (เช่นเดียวกับค่าเงินบาทในปัจจุบัน) แต่ค่าเงิน รูเปียห์กลับอ่อนค่าลงเป็นลำดับ และในทางกลับกัน เมื่อ
ค่าเงินรูเปียห์อ่อนตัวลง อินโดนีเซียควรส่งออกได้มากขึ้น หากสินค้าอินโดนีเซียมีขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่กลับปรากฏว่า ยอดส่งออกสินค้าลดลงเป็นลำดับทำให้อินโดนีเซียขาดดุลการค้าในไตรมาส 1/2556 ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และตลอดปี 2556 อาจขาดดุลสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ในภาพรวมเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี โดยคาดว่าในไตรมาส 1/2556 อาจจะขยายตัวได้
ร้อยละ 6.2 แต่ความเปราะบางที่สะท้อนให้เห็นก็เป็นประเด็นที่สมควรจับตามองและเป็นสิ่งที่ควรระมัดระวัง เพราะมาตรการหลายๆ อย่างที่รัฐบาล อซ.ประกาศใช้โดยมุ่งหวังจะปกป้องอุตสาหกรรมท้องถิ่นแต่ในทางกลับกันกลับลดขีดความสามารถในการแข่งขันเพราะกลายเป็นการเพิ่มต้นทุน และอุปสรรคให้กับบริษัทท้องถิ่นไม่ได้ส่งผลเฉพาะกับบริษัทต่างชาติ ทั้งนี้ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรรม (purchasing managers’ index) หดตัวลงเหลือ 49.7 จาก เดือน ธ.ค. ที่อยู่ที่ 50.7 และ พย. ที่ 51.5 ซึ่งหากดัชนีดังกล่าวให้ค่าต่ำกว่า 50 หมายถึงภาคการผลิตเริ่มหดตัว

4. มาตรการเศรษฐกิจหลายๆ มาตรการที่รัฐบาลประกาศใช้ส่งสัญญาณเชิงลบมากกว่าเชิงบวก

เช่น มาตรการควบคุมสินค้าเกษตรกลับทำให้ราคาสินค้าอาหารและเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น แต่กลับไม่มีสัญญาณสะท้อนว่า เกษตรกรท้องถิ่นได้รับประโยชน์และมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มาตรการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ประกาศก่อนหน้านี้ เช่น ห้ามส่งออกสินแร่ที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการแปรรูป/มาตรการให้ลดสัดส่วนการลงทุนและกระจายให้กับผู้ถือหุ้นท้องถิ่น หรือมาตรการห้ามผู้บริหารต่างชาติดำรงตำแหน่งบางตำแหน่งในบริษัทส่งผลให้อินโดนีเซียถูกจัดลำดับเป็น “ประเทศที่ไม่น่าลงทุนที่สุดในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ (the worst) ในรายงานของ Fraser Institute ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและประเมินผลการลงทุน โดยอินโดนีเซียถูกจัดอยู่ลำดับที่ 96 จาก 96 ประเทศ ปรับลดลงจาก ลำดับ 85 เมื่อปี 2555 และลำดับที่ 70 จาก 79 ประเทศในปี 2553 รวมทั้งทำให้อินโดนีเซียถูกมองว่า เป็น protectionist และเป็นคดีความทางการค้าระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เช่น สหรัฐฯ ยื่นขอหารือเรื่องการจำกัดการนำเข้าพืชสวนดังกล่าวกับอินโดนีเซียต่อ WTO หรือ ถูกสหรัฐฯ กล่าวหาว่าอุดหนุนอุตสาหกรรมกุ้งทำให้อุตสาหกรรมกุ้งสหรัฐฯ
ได้รับผลกระทบ ซึ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการสมัครตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลกของนาง Mari Pangestu
รมว. ท่องเที่ยวฯ

5. การอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิง

เป็นประเด็นที่ได้รับการกล่าวถึงบ่อยครั้งว่า เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (ปี 2555 อินโดนีเซียขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 24.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือร้อยละ 2.7 ของ GDP) ซึ่งผลของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดทำให้ค่าเงินรูเปียห์มีความผันผวนสูง ทางแก้ไขที่กล่าวถึงบ่อยคือ การขึ้นราคาน้ำมันอุดหนุน หรือการจำกัดการใช้น้ำมันอุดหนุน ซึ่งประเด็นดังกล่าวมีนัยทางการเมืองสูง และเมื่อคำนึงว่าใกล้การเลือกตั้ง ปธน. ในปี 2557 ซึ่งทุกครั้งที่มีการยกเรื่องน้ำมันอุดหนุนก็จะได้ยินข่าวเกี่ยวกับรัฐประหารล้ม ปธน. ซึ่งน่าจะหมายถึงการลุกฮือของประชาชนเพื่อล้มรัฐบาลมากกว่า การรัฐประหารโดยทหาร จึงทำให้หลายฝ่ายประเมินว่า ปธน. น่าจะยังไม่ประกาศยกเลิกการอุดหนุน และคงจะประคองเศรษฐกิจไปในลักษณะเช่นนี้ไปก่อน โดยอาจให้ “การจูงใจ” ลักษณะอื่นๆ เช่น การลงทุนเพิ่มในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดปัญหาคอขวด ซึ่ง Indoneisan Logistics Association ได้คาดการณ์ไว้ว่า ต้นทุนขนส่ง (logistics) จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ปีนี้ เนื่องจากอัตราค่าธรรมเนียมท่าเรือเพิ่มขึ้น และจะทำให้ต้นทุนขนส่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของราคาสินค้า ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียนที่ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 โดยปีนี้ รัฐบาลประกาศจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 146 โครงการคิดเป็นวงเงินประมาณ 54.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 82 โครงการ และ 64 โครงการลงทุนโดยเอกชน

6. ในชั้นนี้ ความเป็นตลาดขนาดใหญ่ของอินโดนีเซียและอัตราการขยายตัวของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น

น่าจะยังเป็นแรงดึงดูดที่สำคัญกว่าต้นทุนหรืออุปสรรคจากกฎระเบียบ อาจเป็นเพราะนักลงทุนต่างชาติมองระยะยาวว่า การลงทุนในวันนี้มุ่งหวังผลในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งในวันนั้น โครงสร้างต่างๆ ของอินโดนีเซียน่าจะเข้าที่มากขึ้น จึงทำให้ยอดการลงทุนจากต่างประเทศยังคงขยายตัว เช่น ในไตรมาส 1/2556 บริษัท GE Nestle Toyota ประกาศขยายการลงทุน รวมทั้ง บริษัท PTT Global Chemical ได้รับเลือกให้ร่วมทุนกับบริษัทน้ำมันแห่งชาติ Pertamina ในธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งผู้บริหารและคณะรัฐมนตรีอินโดนีเซียก็พยายามชี้แจงในหลายโอกาสว่า มาตรการต่างๆ ที่ออกไม่ใช่เพื่อกีดกันการค้าการลงทุน แต่เป็นเพราะอินโดนีเซียไม่ต้องการเป็นเพียงผู้ส่งออกสินค้า แต่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่ม (move up value chain) ให้กับประเทศ


1 เมษายน 2556
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา