รายงานเศรษฐกิจ ปี 2559

ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซียประจำไตรมาสที่ 1/2559

1. ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ประจำไตรมาส 1/2559

1.1 ในไตรมาส 1/2559 เศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตที่ร้อยละ 4.92 ต่ำกว่าไตรมาสก่อน (4/2558)

ซึ่งเติบโตร้อยละ 5.04 และต่ำกว่าที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียและนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะเติบโตได้สูงกว่าร้อยละ 5 ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์การส่งออกและตลาดโลกยังคงซบเซา แต่คาดว่าผลจากการกระตุ้นการลงทุนภาครัฐ การใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการขยายการลงทุนจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในไตรมาสต่อไป

1.2 การค้าและการลงทุน

อินโดนีเซียยังคงได้ดุลการค้าอย่างต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน แต่มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าลดลง โดยการส่งออกในไตรมาสนี้มีมูลค่าประมาณ 33,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 13.9 (YoY) โดยสินค้าส่งออก 3 ลำดับแรก ที่ไม่ใช่สินค้าน้ำมันและก๊าซ (non oil and gas export) ได้แก่ น้ำมันและไขมันจากพืชและสัตว์ แร่ธาตุ (mineral fuels) อัญมณีและเครื่องประดับ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่าประมาณ 31,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 13 (YoY) โดยสินค้านำเข้า 3 ลำดับแรก ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์จักรกล เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบสำหรับการผลิตในไตรมาสนี้ลดลงถึงร้อยละ 18.23 และร้อยละ 15.21 ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการผลิตยังคงซบเซา

แม้มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าจะลดลง แต่การลงทุนในอินโดนีเซียยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสนี้มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 146.5 ล้านล้านรูเปียห์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 (YoY) ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนจาก ตปท. 96.1 ล้านล้านรูเปียห์ หรือขยายตัวร้อยละ 17.1 (YoY) โดยไทยเป็นผู้ลงทุนอันดับที่ 7 ของนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด (นักลงทุนต่างชาติ 4 ลำดับแรก ได้แก่ สป. ญี่ปุ่น ฮ่องกง และจีน จากเดิมในปี 2558 นักลงทุน 4 ลำดับแรก ได้แก่ สป. มซ. ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์) ทั้งนี้ ตัวเลขการลงทุนเป็นไปตามที่ Indonesia Investment Coordinating Board (BKPM) ได้ตั้งเป้าไว้

1.3 การเงินและการคลัง

รัฐบาลอินโดนีเซียสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อไว้ในระดับที่น่าพอใจ โดยในไตรมาสนี้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 4.45 ตรงตามที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4 ±1 ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันและค่าขนส่งที่ปรับลดลง รวมทั้งราคาข้าวที่ปรับลดลง เนื่องจากมีผลิตผลออกสู่ตลาดมากขึ้น ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำลงดังกล่าว เป็นปัจจัยเอื้อให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.75 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในส่วนของค่าเงินรูเปียห์ ในไตรมาสนี้ เงินสกุลรูเปียห์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากในช่วงต้นเดือน ม.ค. 2559 ซึ่งอ่อนค่าต่ำสุดที่ 14,000 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นมาอยู่ในช่วง 13,100-13,200 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายไตรมาสและยังคงอยู่ในระดับดังกล่าวต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยธนาคารกลางอินโดนีเซียคาดว่า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่นักลงทุนเชื่อมั่นในภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปีนี้ กอปรกับความต้องการเงินตราต่างประเทศในประเทศลดลง ซึ่งการแข็งค่าขึ้นของเงินสกุลรูเปียห์และการออกพันธบัตรของรัฐบาล ได้ช่วยให้เงินสำรองระหว่างประเทศของอินโดนีเซียปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 107,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


2. มาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

2.1 ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ผ่อนคลายนโยบายการเงินแบบตึงตัวที่ปฏิบัติมาตลอดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

โดยหันมาใช้นโยบายการเงินแบบผสม กล่าวคือ ดำเนินนโยบายการเงินที่มุ่งรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจมหภาค และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมกัน เห็นได้จากนับแต่เดือน ม.ค. 2559 เป็นต้นมา ธนาคารกลางได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ทุกเดือนตลอดไตรมาส จากร้อยละ 7.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.75 ในเดือน มี.ค. 2559 เนื่องจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงขึ้น อัตราเงินเฟ้อลดต่ำลง อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลรูเปียห์มีความผันผวนลดลง และเพื่อช่วยกระตุ้นสินเชื่อและกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า การประชุมบอร์ดผู้บริหารธนาคารกลางอินโดนีเซียเมื่อเดือน ม.ค. 2559 ได้มีการจัดการประชุมรูปแบบใหม่โดยมีผู้แทนจากรัฐบาลอินโดนีเซียคือ นาย Darmin Nasution รมว. ประสานกิจการเศรษฐกิจเข้าร่วมด้วย ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า รบ.อินโดนีเซียได้พยายามเข้าแทรกแซงการกำหนดนโยบายของธนาคารกลาง เพื่อกดดันให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว

2.2 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

รัฐบาลอินโดนีเซียยังคงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องจากปี 2558 โดยในไตรมาสนี้ ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 9 เน้นการพัฒนาประสิทธิภาพการบริการและการบริหารที่ท่าเรือ ชุดที่ 10 เน้นการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ด้วยการประกาศทบทวนสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติใหม่ ประจำปี 2559 (Negative Investment List) อย่างไรก็ดี ในชั้นนี้ ยังไม่มีการประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และชุดที่ 11 เน้นการลดระยะเวลาการส่งออก/นำเข้าสินค้าที่ท่าเรือ และส่งเสริมอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ในประเทศ

2.3 การส่งเสริมการลงทุน

รัฐบาลอินโดนีเซียยังคงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนและลดอุปสรรคในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อ 11 ม.ค. 2559 รอง ปธน. Jusuf Kalla ได้เป็นประธานเปิดการบริการออกใบอนุญาตการลงทุนภายใน 3 ชม. ที่ BKPM เพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุนขนาดใหญ่ กล่าวคือ มีงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านรูเปียห์ และจ้างงานท้องถิ่นมากกว่า 1,000 คน นอกจากนี้ BKPM ได้เพิ่มการให้บริการการออกใบอนุญาตก่อสร้าง Direct Construction Permission (KLIK) ในเขตนิคมอุตสาหกรรม 14 แห่ง ซึ่งอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนสามารถเริ่มการก่อสร้างได้ทันทีหลังจากได้รับใบอนุญาตการลงทุนแล้ว โดยสามารถยื่นขอใบอนุญาตอื่นๆ อาทิ ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (Building Permit-IMB) หรือใบอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กับการก่อสร้างได้

2.4 การส่งเสริมการท่องเที่ยว

อินโดนีเซียได้ประกาศยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางจาก 169 ประเทศ/ดินแดน สำหรับการพำนักระยะสั้นไม่เกิน 30 วัน เป็นการเพิ่มจำนวนประเทศที่ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรามากกว่าเท่าตัว จากจำนวน 75 ประเทศ/ดินแดนที่ประกาศในปี 2558 โดยหวังว่าจะช่วยให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมามากขึ้น โดยตั้งเป้าไว้ที่ 12 ล้านคนในปีนี้ เนื่องจากในปี 2558 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าอินโดนีเซีย9.7 ล้านคน ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ 10 ล้านคน


3. ข้อคิดเห็น/ข้อสนเทศเพิ่มเติม

3.1 ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2559

สะท้อนว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียยังคงไม่ฟื้นตัวจากเดิม และน่าจะขยายตัวในอัตรานี้ต่อไปในไตรมาส 2/2559 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าสำคัญยังคงไม่ปรับสูงขึ้นนัก ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจนี้ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีไม่เป็นไปตามเป้า และทำให้รัฐบาลไม่สามารถจัดสรร งปม. ไปยังโครงการลงทุนขนาดใหญ่ได้เต็มที่อย่างที่วางแผนไว้ อย่างไรก็ดี การลงทุนยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและคาดว่าการบริโภคภายในประเทศน่าจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ประเมินจากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ ราคาน้ำมันที่ถูกลง อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง และเงินสกุลรูเปียห์ที่มีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนั้น รัฐบาลยังเร่งดำเนินมาตรการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการลงทุนอย่างจริงจัง ซึ่งน่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นการขยายการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งจากไทยด้วย

3.2 แม้ว่าในช่วงนับแต่มีการปรับ ครม.

เป็นต้นมา (ส.ค. 2558) รัฐบาลอินโดนีเซียจะได้ผลักดันมาตรการปฏิรูปและมาตรการกระต้นเศรษฐกิจและการลงทุนออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงทิศทางนโยบายเศรษฐกิจที่เปิดเสรีมากยิ่งขึ้น อันเห็นได้จากการปรับปรุง Negative Investment List ซึ่งเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในสัดส่วนที่มากขึ้นในหลายสาขา แต่อินโดนีเซียยังคงไม่สามารถแก้ปัญหาการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ มาตรการที่ไม่สอดคล้องกันของแต่ละหน่วยงาน หรือการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายหลายครั้ง ยังคงสร้างความสับสนและสร้างความไม่แน่นอนให้ภาคธุรกิจ อาทิ กฎระเบียบด้านใบอนุญาตทำงานของคนต่างชาติ การประกาศยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มการนำเข้าเนื้อวัวหลังจากประกาศใช้เพียงไม่นาน การขยายระยะเวลาการประกาศห้ามส่งออกสินแร่ดิบในทุกสาขาตามที่ระบุใน Mining Law ออกไปอีก 2 ปี รวมไปถึงกรณีที่เป็นที่สนใจของประชาชน เช่น กระทรวงคมนาคมสั่งให้บริษัท PT Kereta Cepat Indonesia China (KCIC) ซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงจาการ์ตา-บันดุง ระงับการก่อสร้างเนื่องจากปัญหาใบอนุญาต ซึ่งแม้ว่าปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไขแล้วในระดับหนึ่ง แต่ KCIC ยังคงเรียกร้องการสนับสนุนจากรัฐบาลอินโดนีเซียเพื่อเพิ่มความแน่นอนในการดำเนินโครงการ หรือกรณีบริการเรียกแท็กซี่ผ่าน application ซึ่ง ปธน. มีความเห็นขัดแย้งกับหน่วยงานปฏิบัติ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถทำได้ เป็นต้น

3.3 เสถียรภาพทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

โดยในขณะนี้พรรคฝ่ายค้านได้หันมาให้การสนับสนุน รบ. Jokowi มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการผลักดันร่างกฎหมายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ร่างกฎหมาย Tax amnesty เพื่อดึงดูดให้นักธุรกิจนำเงินที่ฝากไว้ ในต่างประเทศกลับเข้ามายังอินโดนีเซีย โดยรัฐบาลคาดว่าจะสามารถผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวได้ในเดือน มิ.ย. 2559 ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์การจัดเก็บรายได้ของรัฐดีขึ้น ทำให้มีเงินลงทุนในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ รวมถึงลดแรงกดดันต่อการขาดดุล งปม. ของประเทศในระยะต่อไป

13 พฤษภาคม 2559
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา