รายงานเศรษฐกิจ ปี 2553

สถานการณ์เศรษฐกิจอินโดนีเซียในครึ่งแรกของปี 2553

1. ภาพรวม

นาย Agus Martowardojo รมว. กค. อซ. เปิดเผยว่า อัตราการเจริญเติบโตของ ศก. อซ. ในครึ่งปีแรกเป็นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 6 ในครึ่งหลังของปีนี้ ดังนั้น อัตราการขยายตัวทาง ศก. อซ. โดยรวมภายในปี 2553 น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5.9 (รบ. อซ. เคยคาดการณ์ไว้ร้อยละ 5.8) ในขณะเดียวกัน ธ.กลาง อซ. คาดการณ์ว่า ศก. อซ. ในปี 2553 น่าจะขยายตัวร้อยละ 6 ดังนั้น สถานะการณ์ทาง ศก. อซ. ในปี 2553 ยังคงอยู่ในระดับที่หน่วยงานด้าน ศก. ของ อซ. คาดการณ์ไว้

2. ปัจจัยทาง ศก. ที่ส่งผลต่อ ศก. ที่ขยายตัวในครึ่งแรกของปีนี้

2.1 การบริโภคภาคครัวเรือน

(1) แนวโน้มความมั่นใจในสภาวะ ศก. อซ. ที่เพิ่มขึ้นและรายได้ที่จะได้รับในอนาคต (2) อำนาจการซื้อของครัวเรือนสูงขึ้น (อาทิ อัตราการซื้อยานพาหนะที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 76 ในครึ่งปีแรก) ทำให้การบริโภคภาคครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีนี้ ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการขึ้นเงินเดือนสำหรับ ขรก. ทหารและ ตร. และการปรับค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละภูมิภาคโดยเฉลี่ยร้อยละ 5 และการเลือกตั้งผู้นำรัฐบาลส่วนภูมิภาคที่จะมีขึ้นภายในปีนี้

2.2 การลงทุน

แนวโน้มการลงทุนใน อซ. ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเนื่องจาก (1) อุปสงค์ของประเทศคู่ค้าของ อซ. ที่ทำให้ยอดการส่งออกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ก. การค้า อซ. ได้พยายามเปิดตลาดการค้าใหม่ อาทิ ปท. ในภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลาง (2) บรรยากาศการลงทุนใน อซ. ที่ดีขึ้นเนื่องจากการปรับปรุงกฎระเบียบการลงทุน (3) การเมืองและ ศก. ที่มีเสถียรภาพ (4) การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างโดยเฉพาะโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ รบ. ซึ่งเริ่มมีความคืบหน้าในไตรมาสที่ 2 (5) การเพิ่มขึ้นของการนำเข้าสินค้าประเภททุนและวัตถุดิบเพื่อการผลิตสำหรับส่งออก

2.3 สภาวการณ์ที่ดีขึ้นของภาค ศก. ที่สำคัญต่างๆ

สภาวการณ์ของภาค ศก. ต่างๆ แข็งแกร่งขึ้น อาทิ การค้า โรงแรมและภัตตาคาร การเกษตรกรรม พลังงานและก๊าซธรรมชาติ โดยพัฒนาการเริ่มตั้งแต่ไตรมาสแรกและได้ส่งผลมายังไตรมาสที่ 2 ทั้งนี้ เนื่องมาจากภาวะ ศก. โดยรวมของ ปท. ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

3. ปัจจัยทาง ศก. ที่น่าจะส่งผลต่อ ศก. ในครึ่งหลังของปีนี้

3.1 ภาวะเงินเฟ้อของ อซ.

สนง. สถิติกลาง อซ. ประกาศว่า อัตราเงินเฟ้อของ อซ. ในครึ่งปีแรกคือร้อยละ 2.4 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว) จึงทำให้ รบ. เพิ่มความพยายามในการควบคุมระดับเงินเฟ้อของปีนี้ให้มิเพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ 5.3 โดยจะประสานการดำเนินงานควบคุมกับ ก. การค้า ก. กษ. และ State Logistics Agency (BULOG) อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงท้ายของครึ่งแรกของปีนี้ เกิดจากราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอาหารหลักของผู้บริโภค อซ. ได้แก่ ข้าวและพริกแดง (ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 -35) หอมแดง (ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 15)

หน่วยงานทาง ศก. ต่างๆ ของ อซ. คาดว่า ภาวะเงินเฟ้อยังจะปรากฏต่อไปในครึ่งหลังของปีนี้เนื่องจาก (1) แนวโน้ม คชจ. ที่จะเพิ่มสูงขึ้น อาทิ คชจ. จากภาคอุตสาหกรรมที่จะเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยร้อยละ 10 คชจ. จากภาคครัวเรือนที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับค่าอาหารในช่วงเทศกาลถือศีลอด และค่าเสื้อผ้า/ท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล Idul Fitri ระหว่างวันที่ 10 – 11 ก.ย. นี้ (หลังการละศีลอดจะมีการมอบของขวัญ จ่ายเงินโบนัส และการเดินทางท่องเที่ยว) (2) ปัญหาการกระจายสินค้าไม่ทั่วถึงทำให้ปริมาณสินค้าอาหารในตลาดลดลง ทั้งนี้เพราะโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่งที่ยังขาดประสิทธิภาพ (3) ฤดูกาลเพาะปลูกที่สั้นลงเพราะในปีนี้มีช่วงฤดูฝนยาวนานจึงทำให้ผลผลิตทางการ กษ. ลดลงและส่งผลให้ราคาแพง อาทิ ข้าวสารซึ่ง รมว. กษ. อซ. ได้แนะนำให้ ปชช. อซ. ลดการบริโภคข้าวสวยร้อยละ 1.5/คน/ปี โดยกำลังจะพิจารณารณรงค์ให้มี "No steamed rice day" และต่อข้อเสนอดังกล่าวได้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จาก ปชช. ตามที่ปรากฏในสื่อสิ่งพิมพ์ว่า เป็นการแก้ไขปัญหาแบบทางลัดและที่ปลายเหตุ ซึ่งมิน่าจะบรรเทาการขาดแคลนข้าวในอนาคตได้ และ รบ. ควรพิจารณาเพิ่มผลผลิตข้าวและการกระจายสินค้าข้าวเข้าสู่ตลาด รวมไปถึงการนำเข้าข้าวจาก ตปท. ด้วย

ธ. กลาง อซ. ประกาศจะใช้ non-monetary measure เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อเกิดจากปัญหา non-monetary เช่น ระบบการขนส่งที่ไม่ได้มาตรฐาน การแอบกักตุนอาหารที่ส่งผลต่ออุปทานในสินค้าจำเป็นพื้นฐานซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น โดย ธ. กลาง อซ. จะจัดตั้ง Regional inflation control team (TPIDs) ในเขตเมืองที่ส่งผลต่อการเกิดภาวะเงินเฟ้อใน อซ. ได้แก่ Depok Bogor Tangerang และ Bekasi (ชื่อย่อของ พ.ท. ดังกล่าวคือ BODETABEK) ปัจจุบันมี TPIDs จำนวน 38 แห่ง ทั่วประเทศและมีแผนจะเพิ่มจำนวนเป็น 66 แห่งภายใน 2 – 3 ปีข้างหน้าเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อของปท.

BOLOG ซึ่งเป็นหน่วยงาน รบ. ที่ควบคุมสต็อกข้าวของ อซ. ประกาศจะเข้าแทรกแซงตลาดหากราคาข้าวสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ในช่วงเทศกาลละศีลอดซึ่งเป็นช่วงที่จะมีการบริโภคข้าวเพิ่มขึ้น ก. การค้าจะควบคุมราคาสินค้าอาหารได้แก่ พริกแดง หอมแดง ไข่ไก่ และเนื้อวัว

3.2 Credit rating ของ อซ.

Japan Credit Rating Agency (JCR) ได้ยกระดับ credit rating ของ อซ. ให้อยู่ที่ investment grade โดยเกิดจากปัจจัยหลัก ได้แก่ เสถียรภาพทางการเมืองและสังคม การคาดการณ์ว่า ศก. จะขยายต่อไปซึ่งเกิดจากอุปสงค์ภายใน ปท. ที่แข็งแกร่ง การบริหารการคลังที่ทำให้หนี้สาธารณะลดลง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ ปท. รองผู้ว่า ธ. กลาง อซ. คาดว่าการจัด credit rating โดย JCR จะมีส่วนทำให้ credit rating agency ตปท. อื่นๆ ปรับลำดับ credit rating ของ อซ. ให้ดีขึ้นตาม ทั้งนี้ การได้รับการจัดลำดับให้เป็น investment grade จะสามารถเพิ่มความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุน ใน อซ. เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงครึ่งหลังของปีนี้

3.3 การพิจารณาออกกฎระเบียบทางการเงินของ ธ. กลาง อซ.

ธ. กลาง อซ. กำลังจะพิจารณา (1) การออกกฎระเบียบเพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยรักษาการผู้ว่าการ ธ. กลาง อซ. คาดว่า การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะทำให้แนวโน้มการปล่อยเงินกู้ของ ธ. พาณิชย์ อซ. ภายในปีนี้สามารถขยายตัวร้อยละ 22 – 24 จากเดิมที่เคยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 18 – 20 ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของ ธ. พาณิชย์ของ อซ. อยู่ในอัตราร้อยละ 12 – 14 และ ธ. พาณิชย์บางแห่งใช้อัตราร้อยละ 17 (2) การจะเริ่มบังคับให้สัดส่วนเงินทุนสำรองของ ธ. พาณิชย์ที่กำหนดให้เก็บไว้กับ ธ. กลาง อซ. เป็นไปตามอัตราส่วน loan-to-deposit (LDR) โดยคาดว่าจะจูงใจให้ ธ. พาณิชย์ต่างๆ ของ อซ. ปล่อยเงินกู้มากกว่าการเก็บเงินทุนสำรองไว้ที่ ธ. กลาง อซ.

การปล่อยเงินกู้ในครึ่งแรกของปีนี้เติบโตขึ้นร้อยละ 18.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี การขยายตัวของการปล่อยเงินกู้ระหว่างเดือน ม.ค. – มิ.ย. ในปีนี้อยู่ที่เพียงร้อยละ 8.6 ซึ่งรองผู้ว่าการ ธ. กลาง อซ. กล่าวว่า ธ. กลาง อซ. จะเริ่มฟื้นฟูการดำเนินการในภาคธนาคารของ ปท. โดยจะพิจารณาประเด็นทางเงินทุนและสภาพคล่องซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปกฎระเบียบทางการเงินซึ่ง ทปช. สมาชิก G20 ได้หารือกันเมื่อปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา

ปัจจุบัน บ. เอกชน อซ. ส่วนใหญ่มีความยากลำบากในการ (1) เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำเนื่องจาก น. ปัจจุบันของ ธ. กลาง อซ. ที่ไม่เอื้อต่อการเพิ่มการปล่อยเงินกู้และ (2) ระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้ของ บ. เอกชน อซ. ต่างๆ เนื่องจากการออกพันธบัตร รบ. ในสกุลเงินรูเปียห์สำหรับจัดสรรให้กับ budget deficit ดังนั้น หาก ธ. กลาง อซ. ประกาศและบังคับใช้กฎระเบียบข้างต้นอย่างเป็นทางการจะช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน อซ. และการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงครึ่งหลังของปีนี้


กรกฎาคม 2553
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา
ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.mfa.go.th/web/1312.php?depid=207